ในขั้นตอนจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทที่กรมพัฒน์ ผู้ประกอบการไม่ต้องนำเงินไปโชว์กับเจ้าหน้าที่ว่าตนเองมีเงินจริงตามทุนจดทะเบียนที่ระบุไว้ เจ้าหน้าที่จะเชื่อเอกสาร “ใบสำคัญรับชำระเงินค่าหุ้น” ที่ผู้ก่อการจัดทำขึ้นมา ถ้าเอกสารใบนั้นระบุว่าผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นเรียบร้อยก็คือว่าชำระแล้ว
ยกเว้นกรณีต่อไปนี้ เจ้าหน้าที่จะขอให้ผู้ถือหุ้นแสดงหลักฐานว่ามีเงินจริง
1. ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท
2. มีชาวต่างชาติมาร่วมถือหุ้นในบริษัท (อันนี้กลัวว่าคนไทยจะเป็นนอมินี)
ถ้าเข้า 2 กรณีนี้ ผู้ถือหุ้นจะต้องไปให้ธนาคารออกเอกสารหนังสือยืนยันยอดเงินคงเหลือในบัญชีมาเป็นเอกสารประกอบการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่ามีเงินในบัญชีมากกว่าเงินที่จะต้องชำระค่าหุ้นตามสัดส่วนหรือไม่
ไม่มีเงินจริงตามที่จดทะเบียนบริษัทจะไม่มีปัญหา ❓
แอดมินบอกเลยว่ามีปัญหาแน่นอน แต่นักบัญชีไทยเก่งอยู่แล้ว สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยการบันทึกว่าผู้ถือหุ้นได้นำเงินสดมาลงทุนครบตามที่จดทะเบียน จากนั้นบริษัทก็นำเงินไปให้กรรมการกู้ยืมต่อทันที จะส่งผลทำให้ไม่มีเงินเหลือในบริษัท
เปลี่ยนจาก “เงินสด” –> “เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ” นั่นเอง
แต่วิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งจะทำให้บริษัทมีปัญหาระยะยาวต่อมาเนื่องจากบริษัทนำเงินให้กรรมการกู้ยืมเงิน บริษัทจะต้องมีการคิดดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม และรายได้ดอกเบี้ยรับที่เกิดขึ้นจะต้องถูกเอาไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวนภาษีเงินได้นิติบุคคล (ต้องเสียภาษีเพิ่มอีก)
ปล. แอดมินเคยเจอบริษัททุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แต่ไม่มีเงินจริง แค่คิดถึงรายได้ดอกเบี้ยที่จะต้องมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เพลียแล้ว
ถ้าใครเปิดบริษัทมานานๆจะรู้ว่าบัญชี “เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ” มันน่ากลัวมาก 🙀
ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ กำหนดทุนจดทะเบียนบริษัทให้เหมาะสมกับเงินลงทุนจริงของเรา (ไม่ต้องกำหนดทุนจดทะเบียนที่มากเกินไป) หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือการเลือกชำระค่าหุ้นขั้นต่ำที่ 25% ครับ
- ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต
- ที่ปรึกษาทางด้านภาษี
- อาจารย์พิเศษ