views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการทำสัญญาดำเนินกิจกรรม

วันที่: 22 เมษายน 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/2330

วันที่

22 เมษายน 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 39 มาตรา 40(8) มาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

77/39027

ข้อหารือ

          สมาคมฯ จัดตั้งขึ้นตามความในมาตรา 82 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยรับอนุญาตให้จดทะเบียนจากนายทะเบียนสมาคมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 ทะเบียนเลขที่ จ.4709/2551 สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 99/30 ซอยรามอินทรา 65 แยก 2 - 4 แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ มีดังนี้

               1.ส่งเสริมธุรกิจการค้าแก่มวลสมาชิก และผู้สนใจการค้าทั้งระดับประเทศ และระดับสากล

               2.ส่งเสริมสามัคคีธรรม และผดุงเกียรติของมวลสมาชิก

               3.ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างสมาชิก

               4.บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ และการกุศลสาธารณะ

               5.เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย และเสนอแนะนโยบาย และวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการค้า การลงทุนที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของมวลสมาชิกและต่อหน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง

               6.ส่งเสริมการบันเทิง การกีฬา และการพักผ่อนหย่อนใจของมวลสมาชิก

               7.ดำเนินงานเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น

               8.สมาคมฯ สามารถจัดตั้งองค์กรที่ให้ความรู้ด้านธุรกิจการค้า การลงทุนร่วมกับองค์กรอื่น ทั้งในภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้แก่มวลสมาชิก และผู้สนใจทั่วไป

               สมาคมฯ ได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ โดย สสว. ทำสัญญาจ้าง (สัญญาฯ) ให้สมาคมฯ ประสานงานดำเนินกิจกรรมจัดงานเพื่อขยายช่องทางการค้า และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านธุรกิจโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการตลาด (Capacity Building Program) สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุตสาหกรรมของขวัญและของชำร่วย "พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการค้าตลาดจตุจักรเพื่อการส่งออก" ณ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีมูลค่าเงินสนับสนุนตามสัญญาฯ ดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 4,800,000 บาท (สี่ล้านแปดแสนบาทถ้วน) โดยสมาคมฯ ได้นำเงินดังกล่าวทั้งจำนวนจ่ายจ้างให้แก่บริษัทเอกชนและบุคคลที่มีความสามารถในการจัดงานดังกล่าวให้เป็นผู้ดำเนินการจัดงานทั้งหมด โดยสมาคมฯ มิได้มีส่วนได้เสียจากเงินสนับสนุนดังกล่าวแต่อย่างใด สมาคมฯ จึงขอทราบว่า รายได้เงินสนับสนุนกิจกรรมตามความต้องการขององค์กรผู้ให้เงินสนับสนุน ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในบันทึกข้อตกลง (Letter of Aeement) และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่

แนววินิจฉัย

&nb          1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล

               กรณีสมาคมฯ ทำสัญญาฯ กับ สสว. โดยสัญญาฯ ดังกล่าว มีข้อตกลงว่าจ้างให้สมาคมฯ ผู้รับจ้างดำเนินกิจกรรมขยายช่องทางการค้า และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านธุรกิจโครงการสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการตลาด (Capacity Building Program) กิจกรรมหลักสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการตลาด (Capacity Building Program) สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องประดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน อุตสาหกรรมของขวัญของชำร่วย "พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการค้าตลาดจตุจักรเพื่อการส่งออก" ณ ประเทศออสเตรเลีย ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายเงินค่าจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,800,000 บาท (สี่ล้านแปดแสนบาทถ้วน) โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด ตามส่วนของงาน และผู้รับจ้างต้องเริ่มงานตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไปและจะต้องทำงานให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2554 ถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานภายในกำหนดเวลาหรือไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญา และมีสิทธิจ้างผู้รับจ้างรายใหม่เข้าทำงานของผู้รับจ้างให้ลุล่วงไปได้ด้วย สัญญาฯ ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเงินได้ตามข้อเท็จจริง ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร สมาคมฯ ซึ่งประกอบกิจการและมีรายได้ จึงเข้าลักษณะตามคำนิยาม "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร สมาคมฯ มีหน้าที่ต้องนำรายได้ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ก่อนหักรายจ่ายใดๆ ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 250) พ.ศ. 2535

          2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

               กรณีสมาคมฯ ได้รับเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างทำของดังกล่าวจาก สสว. ถือว่า สมาคมฯ ได้มีการให้บริการแก่ สสว. ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร เงินที่ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการ จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร