views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

วันที่: 7 เมษายน 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/3890

วันที่

7 เมษายน 2558

ข้อกฎหมาย

กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เลขตู้

78/39609

ข้อหารือ

          นาย ก.เกิดวันที่ 15 มิถุนายน 2503 ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ตั้งแต่ปี 2553 ครั้งละไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินและปัจจุบันนาย ก.ยังคงถือหน่วยลงทุนทั้งหมด ซึ่งในปี 2558 จะซื้อหน่วยลงทุนเป็นครั้งที่หก ก่อนขายคืนหน่วยลงทุนครั้งที่หนึ่งถึงครั้งที่ห้า ในวันที่ 30 ธันวาคม 2558 คงเหลือไว้เฉพาะครั้งที่หก (ปี 2558) เพื่อใช้สิทธิทางภาษีทั้งการซื้อและขายหน่วยลงทุน RMF นาย ก.จึงขอทราบว่า

               1. ในปี 2559 กรณีนาย ก.ยังคงถือหน่วยลงทุน RMF ของปี 2558 การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ของปี 2558 มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (30 ธันวาคม 2553) ถูกต้องหรือไม่

               2. หากกรณีตาม 1. ถูกต้อง นาย ก.ซื้อหน่วยลงทุนต่อเนื่องเป็นครั้งที่เจ็ด (ปี 2559) การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ของปี 2559 มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ให้นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก (30 ธันวาคม 2553) และหลังจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งที่เจ็ด (ปี 2559) แล้ว นาย ก.สามารถขายคืนหน่วยลงทุน RMF ของปี 2558 ได้ ถูกต้องหรือไม่

               3. การซื้อและขายหน่วยลงทุนในครั้งต่อ ๆ ไป ก็หมุนเวียนไปในทำนองเดียวกับตาม 2.โดยต้องเป็นการซื้อต่อเนื่องกันไป (ซื้อปีปัจจุบันก่อน แล้วค่อยขายกองที่ซื้อปีกลาย) จึงจะได้สิทธิการนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก แต่ถ้าเมื่อใดได้ขายคืนหน่วยลงทุนทั้งหมดไม่มีถืออยู่ก็เป็นอันขาดตอน การซื้อหน่วยลงทุนในครั้งใหม่จึงต้องนับเป็นการเริ่มซื้อครั้งแรกรอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

          1. กรณีนาย ก.ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกในปี 2553 (30 ธันวาคม 2553) และได้ซื้อติดต่อกันทุกปีจนถึงปี 2557 หากในปี 2558 (30 ธันวาคม 2558) นาย ก.ขายหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 ถึงปี 2557 กรณีดังกล่าว เป็นการขายหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ถือหน่วยลงทุน RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก และหากขณะที่ขายหน่วยลงทุน RMF นาย ก.มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ได้ขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF คืนให้แก่กองทุน RMF จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

          2. กรณีตาม 1. นาย ก.ได้ขายหน่วยลงทุน RMF ของปี 2553 ถึงปี 2557 ทั้งหมด ในปี 2558และในปีเดียวกัน (ปี 2558) หากนาย ก.ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ของปี 2558 ใหม่ นาย ก.ต้องถือหน่วยลงทุนที่ซื้อใหม่ดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่นั้น (30 ธันวาคม 2558) โดยต้องซื้อไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน และขณะไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว นาย ก.ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งใหม่ดังกล่าวในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกินห้าแสนบาท จึงได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171)ฯ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551

          3. กรณีตาม 2. และ 3. นาย ก.ได้ซื้อ และขายหน่วยลงทุนในปีเดียวกัน การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนครั้งใหม่เป็นเช่นเดียวกับการพิจารณาตามข้อ 2.