กค 0702/4422
28 เมษายน 2558
มาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาภาษีซ้อนข้อ 5 ข้อ 7
78/39640
บริษัท A ในฐานะผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของบริษัท B หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีองค์การของรัฐบาลไทยจ่ายค่าอุปกรณ์และค่าฝึกอบรมให้บริษัทต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
1. บริษัท B จดทะเบียนตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสวิสเซอร์แลนด์ บริษัท B ไม่มีสถานประกอบการในประเทศไทย ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์หรือขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการต่อกระทรวงพาณิชย์ และไม่ได้ขอมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีในประเทศไทย
2. บริษัท B ร่วมกับ บริษัท C และบริษัท D (ประเทศญี่ปุ่น) ทำสัญญาจัดตั้ง consortium เพื่อเข้าทำสัญญากับการไฟฟ้าฯ และเป็นธุรกรรมแรกที่บริษัท B ทำในประเทศไทยนับแต่ปี 2547 โดยบริษัท B ยังไม่มีแผนประกอบกิจการอื่นใดในประเทศไทย
3. ในการดำเนินงานก่อนเข้าทำสัญญา บริษัท B ได้ทำหนังสือมอบอำนาจแต่งตั้งนาย ก. พนักงานของบริษัท C เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจเจรจาทำความตกลง ลงนามในเอกสารประกวดราคา สัญญาจ้าง และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในนามบริษัท B และบริษัท B ได้ทำหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่งแต่งตั้งให้ประธานกลุ่มบริษัทมีอำนาจลงนามในสัญญาฯ กับการไฟฟ้าฯ
4. ในการดำเนินงานตามสัญญาฯ บริษัท B มีหน้าที่ ดังนี้
4.1 จัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์จากต่างประเทศเพื่อจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าให้แก่ การไฟฟ้าฯ โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ณ ท่าเรือหรือท่าอากาศยานที่นำเข้า และบริษัท C เป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรแทน การไฟฟ้าฯ
4.2 จัดการฝึกอบรมพนักงานของ การไฟฟ้าฯ เพื่อให้สามารถประกอบ ใช้งาน ตรวจสอบ ดูแลรักษา ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ โดยบริษัท B จะดำเนินการจัดฝึกอบรมในประเทศไทยเป็นระยะเวลาทั้งหมดไม่เกิน 75 วัน
5. ในส่วนของค่าตอบแทน สัญญาฯ จะระบุแยกค่าตอบแทนที่แต่ละรายจะได้รับตามสัญญาฯ โดยผู้เข้าร่วมใน consortium แต่ละรายจะออกใบแจ้งหนี้ค่าตอบแทนในส่วนของตนให้แก่ การไฟฟ้าฯ และ การไฟฟ้าฯ จะชำระให้แต่ละรายโดยตรง โดยในส่วนของบริษัท B นั้น จะได้รับค่าตอบแทนแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ค่าตอบแทนการจำหน่ายอุปกรณ์จำนวน 70,830,984 ยูโร และค่าตอบแทนการจัดฝึกอบรมจำนวน 660,016 ยูโร
6. ข้อหารือกรณีค่าอุปกรณ์และค่าฝึกอบรมตามสัญญาฯ ในส่วนที่บริษัท B ได้รับอยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือไม่ อย่างไร
เนื่องจากเงินได้ที่ได้รับจากการจัดหาและจำหน่ายอุปกรณ์ และเงินได้ที่ได้รับจากการจัดฝึกอบรมการใช้งาน ซ่อมแซม บำรุงรักษาอุปกรณ์ให้แก่พนักงานของการไฟฟ้าฯ เข้าลักษณะเป็นกำไรธุรกิจ ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธ์รัฐสวิส เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่านาย ก. ซึ่งเป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจในการเจรจาทำความตกลง ลงนามในเอกสารประกวดราคา สัญญาจ้าง และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในนามบริษัท B กับ การไฟฟ้าฯ ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เป็นบุคคลซึ่งกระทำการในประเทศไทยในนามของบริษัท B โดยนาย ส. มีการใช้อำนาจอย่างเป็นปกติวิสัยในการทำสัญญาในนามบริษัท B กรณีดังกล่าวถือว่า บริษัท B มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามข้อ 5 วรรคสี่ แห่งอนุสัญญาฯ บริษัท B จึงมีหน้าที่ต้องนำรายได้ตามสัญญาฯ มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามมาตรา 76 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ เมื่อการไฟฟ้าฯ จ่ายค่าตอบแทนทั้งสองส่วนดังกล่าวให้แก่บริษัท B การไฟฟ้าฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร