กค 0702/4663
8 พฤษภาคม 2558
มาตรา 40(1)(2) มาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
78/39661
เดิมนาย อ.ทำงานอยู่ บมจ.ธนาคาร ก. ต่อมาธนาคาร ก. ได้ควบรวมกิจการกับ บมจ.ธนาคาร ข. นาย อ.จึงโอนมาเป็นพนักงานธนาคาร ข. และโอนเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร ก. (กองทุน ก.) ไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร ข. (กองทุน ข.) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 ต่อมานาย อ.ได้ลาออกจากสมาชิกกองทุน ข. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 แต่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร ข. โดยทำงานเกินกว่า 5 ปี การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2556 นาย อ.จะดำเนินการต่อไปนี้ ได้หรือไม่
1. นำเงินสะสมจากกองทุน ก. ณ วันที่ 6 กรกฎาคม 2554 หรือเงินที่ได้รับจากการลาออกจากกองทุนธนาคาร ข. ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 มาเสียภาษีแยกต่างหากจาก เงินได้อื่น
2. นำเงินสะสมจากกองทุน ข. ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 มารวมคำนวณเป็นรายได้อื่น
กรณีนาย อ.เป็นพนักงานธนาคาร ก.ฯ ได้โอนมาเป็นพนักงานธนาคาร ข. และได้โอนเงินสะสมจากกองทุน ก.ไปยังกองทุน ข. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2554 โดยธนาคาร ก.ฯ ไม่ได้จ่ายเงินได้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานให้แก่นาย อ. ถือว่า นาย อ.มีอายุงานต่อเนื่องรวมกับอายุการทำงานกับธนาคาร ข. ดังนั้น เงินสะสมจากกองทุน ก.ที่โอนไปยังกองทุน ข. จึงถือเป็นเงินสะสมจากกองทุน ข. ตั้งแต่วันที่โอนดังกล่าว ต่อมานาย อ.ได้ลาออกจากสมาชิกกองทุน ข. เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2556 แต่ไม่ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานธนาคาร ข. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติต่อไป กรณีดังกล่าว เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุน ข.ทั้งหมด เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ได้รับจากกองทุน ข. มาเลือกเสียภาษีตาม มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 นาย อ.ต้องนำเงินที่ได้รับจากกองทุน ข. ไปรวมกับเงินเดือนตามปกติ แล้วนำไปคำนวณภาษีและยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่อไป