views

ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายกรณีส่งสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ

วันที่: 4 พฤษภาคม 2541
เลขที่หนังสือ

กค 0811(กม)/878

วันที่

4 พฤษภาคม 2541

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (2), มาตรา 70

เลขตู้

61/26665

ข้อหารือ

      บริษัท เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยจ่าย
ค่านายหน้าค่าขายสินค้าให้นิติบุคคลในประเทศอิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา บริษัทฯ จึง
หารือว่า เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลในประเทศดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
หรือไม่

แนววินิจฉัย

     1. กรณีการจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลในประเทศอิสราเอล และประเทศ
สวิตเซอร์แลนด์
      หากนิติบุคคลในประเทศทั้ง 2 ดังกล่าว ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย
ตามนัยข้อ 5 แห่งอนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศไทย กับรัฐบาล
แห่งประเทศอิสราเอลและระหว่างประเทศไทยกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวคือ ค่านายหน้าจาก
การขายสินค้า เป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ และเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2)
แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นเงินได้ประเภทกำไรจากธุรกิจ ตามอนุสัญญา เพื่อการเว้น
การเก็บภาษีซ้อนฯ เมื่อนิติบุคคลในประเทศทั้ง 2 ข้างต้น เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศอิสราเอล และ
ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ตามลำดับ และไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย นิติบุคคลผู้มีเงินได้จึง
ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย ตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ และตามมาตรา 3 แห่ง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
     2. กรณีการจ่ายค่านายหน้าให้นิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา
      หากเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้แก่นิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนวันที่ 1
มิถุนายน 2541 กล่าวคือ การจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่
นิติบุคคลต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีจาก
เงินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
      แต่หากเป็นการจ่ายค่านายหน้าให้แก่นิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 1
มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่อนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกา
เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีผลใช้บังคับและนิติบุคคลดังกล่าวไม่มี
สถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ตามนัยข้อ 5 แห่งอนุสัญญาฯ นิติบุคคลผู้มีเงินได้ไม่อยู่ในข่ายต้อง
เสียภาษีเงินได้ในประเทศไทยตามข้อ 7 แห่งอนุสัญญาฯ และตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออก
ตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ซึ่งบริษัทฯ
ผู้จ่ายเงินได้จะไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย