กค 0702/881
31 มกราคม 2561
มาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ
81/40564
หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินชดเชยที่ได้รับกรณีให้ออกจากงาน ซึ่งไม่ใช่กรณีเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ท่านถูก บริษัทฯ เลิกจ้าง ตามหนังสือเลิกจ้างของบริษัทฯ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 แต่บริษัทฯ ไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน ท่านจึงยื่นฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลแรงงานกลางตามคำฟ้องคดีแรงงานที่ 2556 เรียกร้องเงินชดเชยตามกฎหมายไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน คำนวณเป็นเงินได้จำนวน 221,700 บาท และค่าเสียหายอื่นๆ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2556 ศาลแรงงานกลางได้นัดไกล่เกลี่ยและคดีสามารถตกลงกันได้ โดยบริษัทฯ ยินยอมจ่ายค่าเสียหายให้แก่ท่าน จำนวน 300,000 บาท ตามรายงานกระบวนการพิจารณาและคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2556 ท่านจึงขอหารือว่า เงินค่าเสียหายจากการไกล่เกลี่ยที่ได้รับมาจากบริษัทฯ จำนวน 300,000 บาท มีส่วนของค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 221,700 บาท ท่านจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าชดเชยดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร .
กรณีบริษัทฯ (จำเลย) ในฐานะนายจ้าง ตกลงยินยอมชำระเงินจำนวน 300,000 บาท ให้แก่ท่าน (โจทก์) ในฐานะลูกจ้าง ตามรายงานกระบวนการพิจารณาและคำร้องขอถอนฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2556 โดยท่านไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับบริษัทฯ อีกต่อไป เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินจำนวน 300,000 บาทดังกล่าวมีส่วนที่เป็นค่าชดเชยตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานที่ท่านเรียกร้องจำนวน 221,700 บาท รวมอยู่ด้วย ค่าชดเชยที่ท่านได้รับเข้าลักษณะเป็นค่าชดเชยซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้าย แต่ไม่เกินสามแสนบาท ตามข้อ 2 (51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542)ฯ