views

ภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและไถ่จากการขายฝากรวมหลายครั้ง

วันที่: 27 พฤษภาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/5165

วันที่

27 พฤษภาคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 (15) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ

เลขตู้

78/39698

ข้อหารือ

          การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีการจดทะเบียนขายฝากที่ดินและไถ่จากการขายฝากรวมหลายครั้ง สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

          1.ในวันที่ 19 มีนาคม 2548 นาย ก. จดทะเบียนรับโอนที่ดินมาโดยทางมรดก

          2.ในวันที่ 20 ธันวาคม 2552 นาย ก. จดทะเบียนขายฝากที่ดินครั้งที่หนึ่ง มีกำหนดหนึ่งปี

          3.ในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 นาย ก. จดทะเบียนไถ่จากขายฝากและจดทะเบียนขายฝากครั้งที่สอง มีกำหนดหนึ่งปี การจดทะเบียนขายฝากครั้งนี้ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เนื่องจากเมื่อนับระยะเวลาการได้มาตั้งแต่รับมรดกก่อนขายฝาก ระหว่างการขายฝาก และหลังจากขายฝาก จนถึงวันขายฝากครั้งที่สอง รวมระยะเวลาการได้มาแล้วเกินห้าปี เข้าหลักเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3 (15)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ 365) พ.ศ. 2543

          4.ในวันที่ 20 ธันวาคม 2554 นาย ก. จดทะเบียนไถ่จากขายฝากครั้งที่สอง และจดทะเบียนขายหรือขายฝากต่อไปในวันเดียวกัน

          ในการจดทะเบียนขายหรือขายฝากในวันที่ 20 ธันวาคม 2554 ต้องเริ่มนับระยะเวลาการได้มานับแต่วันใด กล่าวคือ เริ่มนับในวันที่จดทะเบียนได้มาซึ่งที่ดินโดยทางมรดกครั้งแรกก่อนขายฝาก หรือในวันที่นาย ก. จดทะเบียนไถ่จากการขายฝากครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554

          หากเริ่มนับระยะเวลาการได้มานับแต่วันที่จดทะเบียนได้มาซึ่งที่ดินโดยทางมรดกครั้งแรกก่อนขายฝากจนถึงวันจดทะเบียนขายหรือขายฝากครั้งสุดท้าย รวมระยะเวลาการได้มาเกินห้าปี อยู่ในหลักเกณฑ์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 3 (15) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 365) พ.ศ. 2543 เท่ากับว่าเป็นการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะซ้ำ เนื่องจากนาย ก. เคยได้รับสิทธิยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวแล้วในการจดทะเบียนขายฝากครั้งที่สองในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 อย่างไรก็ดี หากเริ่มนับระยะเวลาการได้มาตั้งแต่วันที่นาย ก. ได้จดทะเบียนไถ่จากการขายฝากครั้งที่สองเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 จะเป็นการขายที่ดินไปภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งที่ดินจากการจดทะเบียนไถ่จากการขายฝากครั้งที่สอง อยู่ในหลักเกณฑ์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

แนววินิจฉัย

          1.กรณีนาย ก. จดทะเบียนรับโอนที่ดินทางมรดกมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548 และจดทะเบียนขายฝากครั้งที่หนึ่งในวันที่ 20 ธันวาคม 2552 ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เพราะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (6) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือ หากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541

          2. กรณีนาย ก. จดทะเบียนไถ่จากการขายฝากครั้งที่หนึ่ง ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 และได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวครั้งที่สองในวันที่ 20 ธันวาคม 2553 เมื่อนับระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินก่อนการขายฝากตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ระยะเวลาระหว่างการขายฝากครั้งที่หนึ่งถึงวันที่ไถ่จากการขายฝากครั้งที่หนึ่ง และมีการขายฝากครั้งที่สอง ในวันเดียวกับวันที่ไถ่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553 รวมแล้วเกินห้าปี นาย ก. จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (15) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 365) พ.ศ. 2543

          3. กรณีนาย ก. จดทะเบียนไถ่จากการขายฝากครั้งที่สองภายในกำหนดตามสัญญาในวันที่ 20 ธันวาคม 2554 และจดทะเบียนขายหรือขายฝากต่อไปในวันเดียวกัน กรณีดังกล่าวเมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่นาย ก. ได้มาซึ่งที่ดินเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2548 จนถึงวันก่อนการขายฝากครั้งที่หนึ่งเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2552 ระยะเวลาระหว่างการขายฝากครั้งที่หนึ่งถึงวันไถ่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2553 และระยะเวลาระหว่างการขายฝากครั้งที่สองจนถึงวันไถ่จากการขายฝากครั้งที่สอง และมีการขายหรือขายฝากต่อในวันเดียวกับวันที่ไถ่ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2553 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2554 เมื่อรวมระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันแล้วเกินห้าปี นาย ก. จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 3 (15) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 365) พ.ศ. 2543