views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินกำไรจากการขายหุ้นสามัญ

วันที่: 25 พฤษภาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/5097

วันที่

25 พฤษภาคม 2558

ข้อกฎหมาย

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 2 (23)

เลขตู้

78/39691

ข้อหารือ

          นาย ก.หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินกำไรจากการขายหุ้นสามัญ สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

          1.บริษัท AB จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) แต่เนื่องจากบริษัทฯ ประกอบกิจการมีผลขาดทุนและจากการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้สอบบัญชี ปรากฏว่าส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขึ้นเครื่องหมายห้ามการซื้อขาย (SP) หุ้นของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2552 เพื่อรอฟื้นฟูกิจการ

          2.นาย ก.และนาย ข. ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553 โดยเสนอซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯ มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท ปรากฏว่านาย ก.ซื้อหุ้นได้จำนวน 5,500,000 หุ้น

          3.บริษัทฯ ได้ยื่นเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากเดิม (แตกมูลค่าหุ้น) จากเดิม มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 1 บาท เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 มีผลทำให้หุ้นที่นาย ก.ถือจำนวน 5,500,000 หุ้น เปลี่ยนเป็น 55,000,000 หุ้น

          4.บริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงชื่อจากเดิม "AB จำกัด (มหาชน)" เป็น "BB จำกัด (มหาชน)" (บริษัท BB) เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2555

          5.วันที่ 5 กันยายน 2556 นาย ก.ได้ขายหุ้นสามัญบริษัท BB จำนวน 15,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท เป็นจำนวนเงิน 15,000,000 บาท และได้ส่งมอบใบหุ้นสามัญซึ่งสลักหลังแล้วให้นาย ค. และในวันเดียวกัน นาย ค. ได้ส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 26 กันยายน 2556 สั่งจ่ายเป็นเงินสดจำนวน 15,000,000 บาท ให้นาย ก.โดยขณะที่ทำการซื้อขายหุ้นดังกล่าว บริษัท เอเซียฯ ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกระทั่งวันที่ 11 กันยายน 2556 บริษัท BB จึงได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งหนึ่ง

          6.นาย ก.ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) สำหรับปีภาษี 2556 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2557 โดยนำผลกำไรจากการขายหุ้น มูลค่าหุ้นละ 0.85 บาท (1.00 - 0.15) จำนวน 15,000,000 หุ้น เป็นจำนวนเงิน 12,750,000 บาท มาคำนวณภาษี นาย ก.หารือดังนี้

               1.การขายหุ้นดังกล่าวเป็นการขายหุ้นไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อมีกำไรจากการขายหุ้น ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ขายหุ้นจึงมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถูกต้องหรือไม่

               2.การคำนวณกำไรจากการขายหุ้นโดยคิดต้นทุนที่ซื้อมาหุ้นละ 0.15 บาท ขายไปหุ้นละ 1.00 บาท กำไรหุ้นละ 0.85 บาท เป็นการคำนวณที่ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

          1.กรณีตาม 1. เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2556 นาย ก. (ผู้ขาย) ได้ขายหุ้นของบริษัท BB โดยส่งมอบใบหุ้นสามัญซึ่งสลักหลังให้นาย ค. (ผู้ซื้อ) และได้รับเงินจากการขายหุ้นเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 26 กันยายน 2556 แม้ว่าวันที่สั่งจ่ายที่ระบุในเช็คจะเป็นเวลาหลังจากที่บริษัท BB ได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ตาม การขายหุ้นดังกล่าวเป็นการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 2 (23) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

          2.กรณีตาม 2. นาย ก.ได้ซื้อหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ในราคา 1.50 บาท ต่อมาบริษัทฯ ได้เปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (แตกมูลค่าหุ้น) จากเดิมหุ้นละ 10 บาท เป็นมูลค่าหุ้นละ 1 บาท และมีผลทำให้หุ้นที่นาย ก.ถือจำนวน 5,500,000 หุ้น เปลี่ยนเป็น 55,000,000 หุ้น ดังนั้น มูลค่าต้นทุนของหุ้นที่ซื้อมาจึงเปลี่ยนเป็น 0.15 บาท เมื่อนาย ก.ขายหุ้นไปในราคาหุ้นละ 1.00 บาท จึงมีกำไรหุ้นละ 0.85 บาท