views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักค่าใช้จ่ายเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร

วันที่: 27 มิถุนายน 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/4480

วันที่

27 มิถุนายน 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40(5)(ก) มาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ มาตรา 65 ตรี มาตรา 5(1)(ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2505

เลขตู้

77/39125

ข้อหารือ

          นาง ว. ได้รับเงินจากการให้เช่ารถขุดตักและรถแบ็คโฮ ซึ่งเป็นการนำทรัพย์สินของตนออกให้ผู้อื่นเช่าเพื่อนำไปขุดตักดิน เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งในการคำนวณหักค่าใช้จ่ายเพื่อเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากมาตรา 5 (1) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช่จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 กำหนดว่า กรณีการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 และตามมาตรา 5 (1) (จ) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าว กรณีการให้เช่าทรัพย์สินอย่างอื่น ในกรณีเจ้าของเป็นผู้ให้เช่า ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 10 จึงมีประเด็นปัญหาว่า นาง ว. จะมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายสำหรับเงินได้ดังกล่าวในอัตราร้อยละเท่าใด

แนววินิจฉัย

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายของคำว่า "ยานพาหนะ" หมายถึง ยานต่างๆ มีรถและเรือ เป็นต้น และคำว่า "รถ" หมายถึง ยานที่มีล้อสำหรับเคลื่อนไป กรณีตามข้อเท็จจริง รถขุดตักและรถแบ๊คโฮมีลักษณะเป็นยานที่มีล้อสำหรับขับเคลื่อนไป จึงเป็นยานพาหนะตามความหมายของพจนานุกรมฯ เมื่อนาง ว. นำรถขุดตักและรถแบ๊คโฮออกให้ผู้อื่นเช่า จึงเป็นการให้เช่าทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะ เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ว. มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาร้อยละ 30 ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 5 (1) (ง) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 เว้นแต่นาง ว. จะแสดงหลักฐานต่อเจ้าพนักงานประเมินและพิสูจน์ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็ยอมให้หักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร ทั้งนี้ ให้นำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่ถ้าตามหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้นปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ข้างต้น ก็ให้ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์