views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

วันที่: 3 มิถุนายน 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/5331

วันที่

3 มิถุนายน 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39706

ข้อหารือ

          บริษัทฯ ได้ขอหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่าย และบริการซอฟต์แวร์ ของบริษัท M ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อบริษัทฯ ชำระเงินค่าซอฟต์แวร์ และค่าบริการให้กับ M ด้วยสกุลเงินดอลลาร์ (USD) บริษัทฯ จะหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ไว้ในอัตราร้อยละ 5 ของจำนวนเงินที่จ่าย และบริษัทฯ ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวัน (อัตราขายถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในแต่ละวัน ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

          2.เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2558 บริษัทฯ ได้ชำระเงินให้กับ M ด้วยบริการเงินโอนระหว่างประเทศของทางธนาคาร และบริษัทฯ ได้หักภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ เป็นจำนวนเงิน USD 2,512.68

          3.ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2558 บริษัทฯ ได้ยื่นรายการนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และการจำหน่ายเงินกำไร (ภ.ง.ด. 54) นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทฯ ได้หักไว้ โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำวันที่ 6 มกราคม 2558 เพื่อนำมาคำนวณเป็นเงินตราไทย ซึ่งอัตราขายถัวเฉลี่ยสำหรับสกุลเงินดอลลาร์ประจำวันดังกล่าว คือ 33.1006 บาท ต่อ USD 1 ดังนั้น บริษัทฯ จึงนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 83,171.23 บาท

          บริษัทฯ ขอทราบว่า อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่บริษัทฯ ใช้คำนวณนั้น ถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้อง อัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกต้องคืออัตราใด และตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงการประกาศอัตราแลกเปลี่ยนประจำวัน ซึ่งมีการระบุวันที่ไว้ 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งบน (ปรากฏข้อความว่า "อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ประจำวันที่ ...") และตำแหน่งล่าง (ปรากฏข้อความว่า "เผยแพร่วันที่ ...") เช่นนี้ วันที่ ณ ตำแหน่งใดของประกาศอัตราแลกเปลี่ยนประจำวันดังกล่าว คือ วันที่ของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะใช้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

แนววินิจฉัย

          กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ได้จ่ายเงินค่าซอฟต์แวร์ และค่าบริการซอฟต์แวร์ให้กับ M เป็นเงิน USD ไปยังประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคม 2558 โดยบริษัทฯ ได้เลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศถัวเฉลี่ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในการคำนวณเงินดอลลาร์เป็นเงินบาท บริษัทฯ จึงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามอัตราอ้างอิงประจำวัน (อัตราขายถัวเฉลี่ย) ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน ตามข้อ 2 (2) และข้อ 3 (2) ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ปรับเปลี่ยนเวลาการเผยแพร่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศประจำวันให้เร็วขึ้น จากเดิมในเวลา 10.00 น. ของวันถัดไป เป็นเวลา 18.00 น. ของวันเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย ในวันอังคารที่ 6 มกราคม 2558 ก็ยังคงต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในวันจันทร์ที่ 5 มกราคม 2558 ซึ่งเป็นอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของเงินสกุลต่างๆ ณ วันสิ้นทำการประจำวันที่ 5 มกราคม 2558 เนื่องจาก ข้อ 2 (2) ของประกาศกระทรวงการคลังฯ ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 กำหนดว่า ต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยในแต่ละวัน ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้ในวันเดียวกันกับที่มีการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเผยแพร่ในเวลา 18.00 น. ซึ่งไม่อาจปฏิบัติได้