views

ภาษีเงินได้ กรณีการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

วันที่: 8 มิถุนายน 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/5455

วันที่

8 มิถุนายน 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (4) (ช) มาตรา 70 มาตรา 50(2) มาตรา 60 และมาตรา 65(ทวิ) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39712

ข้อหารือ

          บริษัท A จำกัด ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้ กรณีการโอนหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า

               1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการเป็นผู้จัดการกองทรัสต์ของทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ตามพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550

               2. บริษัทฯ มีความประสงค์ที่จะจัดตั้ง REIT ขึ้นเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยในการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ทางอ้อมนั้น REIT จะเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 99.99 ในบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยแห่งหนึ่ง (บริษัทไทย) ซึ่งประกอบธุรกิจในการเป็นเจ้าของและนำอาคารสำนักงานออกให้เช่า โดยมีรายได้เป็นค่าเช่าและค่าบริการ และมิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทซึ่งประกอบไปด้วย

                    1) ผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทย) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นสามัญโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละ 61 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

                    2) ผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรและจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแห่งสาธารณรัฐมอริเชียส ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยและมิได้มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย (บริษัทมอริเชียส) เป็นผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นคิดเป็นร้อยละ 39 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด

               3. ในการลงทุนดังกล่าว REIT ซึ่งมีทรัสตีเป็นผู้กระทำการแทนจะทำการซื้อหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิทั้งหมดในบริษัทไทยจากผู้ถือหุ้นทั้งสองรายซึ่งต่างดำเนินการขายหุ้นของตัวเอง โดยการกำหนดราคาขายของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันคือ กำหนดจากราคาตลาดของหุ้นซึ่งจะประเมินมูลค่าจากผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตลอดช่วงการดำเนินงานของทรัพย์สินหรือธุรกิจ ซึ่งในกรณีการซื้อหุ้นนั้นจะหมายถึงเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นมีสิทธิได้รับจากเงินลงทุนในบริษัท ทั้งนี้ ราคาขายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิจะคิดตามสัดส่วนของผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ได้รับในบริษัทไทยโดยใช้สิทธิการได้รับเงินปันผลเป็นเกณฑ์หลัก บริษัทฯ ได้หารือว่า

                    1. กรณี REIT จ่ายชำระเงินค่าซื้อหุ้นในบริษัทไทยที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แก่ผู้ถือหุ้นบริษัทมอริเชียส REIT ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจากกำไรที่ผู้ถือหุ้นได้รับ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากได้รับยกเว้นตามข้อ 13 แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐมอริเชียสเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ความตกลงฯ) ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ถูกต้องหรือไม่

                    2. กรณี REIT จ่ายชำระเงินค่าซื้อหุ้นในบริษัทไทยที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้แก่ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทย REIT มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (2)แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่ และผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทยสามารถนำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มาเครดิตภาษีได้ ถูกต้องหรือไม่

                    3. กรณีผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทยและบริษัทมอริเชียสโอนหุ้นในบริษัทไทยที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้แก่ REIT เจ้าพนักงานประเมินไม่มีอำนาจประเมินมูลค่าหุ้นที่ขายหรือปรับราคาขายหุ้นที่โอนให้แก่ REIT ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

          1. กรณีตาม 1. บริษัทมอริเชียสเป็นนิติบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่เพื่อการรัษฎากรในสาธารณรัฐมอริเชียสและมิได้ประกอบกิจการหรือมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เมื่อบริษัทมอริเชียสขายหุ้นบริษัทไทยให้ REIT ในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา ถือได้ว่าบริษัทมอริเชียสมีผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ REIT จ่ายเงินค่าหุ้นให้บริษัทมอริเชียสซึ่งเป็นผู้ขาย REIT มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม เงินได้จากการขายหุ้นดังกล่าวถือเป็นผลได้จากทุน ซึ่งตามข้อ 13 วรรค 4 ของความตกลงฯ กำหนดให้ประเทศที่ผู้มีเงินได้มีถิ่นที่อยู่เป็นผู้จัดเก็บ ดังนั้น บริษัทมอริเชียสจึงไม่ต้องถูกหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายแต่อย่างใด ทั้งนี้ตามข้อ 13 วรรค 4 ของความตกลงฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505

          2. กรณีตาม 2. ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทยขายหุ้นบริษัทไทยให้ REIT ในราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา ถือได้ว่าผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทยมีผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ช) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ REIT จ่ายเงินค่าหุ้นให้ผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทย จึงมีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามมาตรา 50 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้ถือหุ้นบุคคลธรรมดาไทยมีสิทธินำภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาเครดิตภาษีได้ตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร

          3. กรณีตาม 3. ความเข้าใจของบริษัทถูกต้องแล้ว กล่าวคือ มาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในไทยและมีหน้าที่เสียภาษีจากกำไรสุทธิเท่านั้น