views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ การประกอบโรคศิลปะ

วันที่: 14 มกราคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/พ/245

วันที่

14 มกราคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40(6) มาตรา 40(2) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39462

ข้อหารือ

          1. บริษัทฯ เรียกเก็บค่าบริการ เช่น ค่าบริหารจัดการ ค่าอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ ค่าบุคลากรทางการแพทย์ ค่าบำรุงรักษาสถานที่ที่ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย จากแพทย์ซึ่งเข้ามาใช้สถานที่ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาระหว่างแพทย์กับบริษัทฯ โดยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 15 ของค่าตรวจรักษา

          2. แพทย์เข้าทำงานให้กับบริษัทฯ แบบเต็มเวลา (Full Time) มีอิสระในการตรวจรักษาโดยทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามนโยบายการตรวจรักษาคุณภาพของบริษัทฯ และมีความเป็นอิสระในการคิดค่าตรวจรักษาตามความเชี่ยวชาญของแพทย์แต่ละคนตามข้อกำหนดของแพทยสภา และต้องรักษามาตรฐาน จรรยาบรรณ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติที่หน่วยราชการหรือหน่วยงานการแพทย์หรือวิชาชีพได้กำหนดควบคุมให้แพทย์ต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจรักษา โดยแพทย์ซึ่งเข้าทำการตรวจรักษาผู้ป่วยของบริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเงินได้พึงประเมิน ซึ่งประกอบด้วย

               - ค่าบริการที่แพทย์ต้องจ่ายให้กับบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 15 ของค่าตรวจรักษา

               - ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาความรู้ของแพทย์ เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพ

               - ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพื่อเข้าปฏิบัติงาน

               - ค่าใช้จ่ายอื่นๆ

          3. ตามหลักฐานการออกใบเสร็จรับเงินให้กับลูกค้า และการบันทึกบัญชีรับรู้รายได้ทางธุรกิจ บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีรับรู้รายได้ค่าตรวจรักษาเป็นรายได้ของบริษัทฯ ทั้งจำนวน ซึ่งบริษัทฯ ได้ปฏิบัติเป็นไปตามข้อเท็จจริงของธุรกิจและบันทึกบัญชีเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 (ปรับปรุง 2555) เรื่อง รายได้ โดยบริษัทฯ มิได้มีการเรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์แต่อย่างใด จึงขอหารือว่า

               1. รายรับที่บริษัทฯ ได้รับจากแพทย์ตามข้อ 1. ที่กล่าวมาข้างต้น เข้าลักษณะเป็นค่าบริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ และหากใช่ รายรับค่าบริการดังกล่าวที่เกินมูลค่าฐานภาษีกิจการขนาดย่อม บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและต้องนำรายรับค่าบริการมารวมคำนวณเป็นรายรับเพื่อยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีด้วยใช่หรือไม่

               2. เงินได้ที่แพทย์ได้รับจากบริษัทฯ เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้กับแพทย์จึงต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 ใช่หรือไม่

แนววินิจฉัย

          กรณีบริษัทฯ ได้มีการบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 18 (ปรับปรุง 2555) เรื่อง รายได้ โดยบริษัทฯ บันทึกบัญชีรับรู้รายได้ค่าตรวจรักษาเป็นรายได้ของบริษัทฯ ทั้งจำนวน และออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ป่วยในนามของบริษัทฯ แล้วแบ่งเงินค่าตรวจรักษาให้แพทย์ จึงถือว่าบริษัทฯ มิได้มีการเรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนแพทย์แต่อย่างใด และการที่บริษัทฯ ได้บันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายของบริษัทฯ ย่อมแสดงให้เห็นว่าบริษัทฯ เป็นผู้จ่ายเงินได้ให้แพทย์โดยตรง ดังนั้น แพทย์จึงมิได้มีนิติสัมพันธ์ทางการเงินกับผู้ป่วยโดยตรง แต่เป็นเพียงผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาจากผู้ป่วยแทนบริษัทฯ เท่านั้น ดังนั้น เงินได้ของแพทย์ดังกล่าว จึงมิใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด แต่ถือว่าเงินได้ของแพทย์ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรดังนั้น เมื่อค่าตอบแทนที่แพทย์ได้รับถือเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ มิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร การที่แพทย์ใช้อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และสถานที่ที่ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วยของบริษัทฯ จึงเป็นการใช้เนื่องจากการรับทำงานให้บริษัทฯ ไม่ใช่การให้บริการของบริษัทฯ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด