กค 0702/312
16 มกราคม 2561
มาตรา 50 (4) 69 ทวิ
81/40543
คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เห็นชอบมาตรการเพิ่มขีดความสามารถและส่งเสริมความรู้ให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน และให้ ธสน. เป็นหน่วยงานดำเนินการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการสนับสนุน SMEs ให้มีความรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ 8 แห่ง และ ธสน.) ร่วมดำเนินโครงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของ SMEs ในการจัดอบรมให้ความรู้ทางการเงินโดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับ SMEs ที่มีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ที่กำหนดและหลังผ่านการอบรม SMEs จะได้รับเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 30,000 บาทต่อกิจการจาก สสว. เพื่อนำไปทดลองซื้อสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (FX Options) กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการภายในระยะเวลาที่กำหนด การดำเนินโครงการภายใต้มาตรการดังกล่าว สสว. ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน 500 ล้านบาท (กรณีดังกล่าว สสว. จะเป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options ให้กับ SMEs ผ่าน ธสน. และมีกระบวนการดำเนินการภายในระหว่างกันของผู้เข้าร่วมโครงการในการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options ให้กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการต่อไป) ดังนั้น ธสน. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินดังกล่าวจึงมีหน้าที่ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 จากค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options โดย ธสน. จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ธสน. ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ขึ้นมาใหม่โดยมีข้อความที่เพิ่มเติมในส่วนของผู้กระทำการแทนผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งเพิ่มเติมจากรูปแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 จึงขอหารือเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับโครงการดังกล่าวในรูปแบบที่ถูกต้อง โดย ธสน. ควรดำเนินการในฐานะผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย หรือในฐานะผู้มีหน้าที่เป็นผู้กระทำการแทน สสว. อย่างไรก็ตามหาก ธสน. เป็นผู้กระทำการแทน สสว. แล้วนั้น ธสน. จำเป็นต้องได้รับหนังสือแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินการแทน สสว. ในการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือการดำเนินการอื่นๆ เกี่ยวกับภาษีหรือไม่ อย่างไร
1. กรณี ธสน. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ร่วมดำเนินโครงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของ SMEs ในการจัดอบรมให้ความรู้ทางการเงินโดยเฉพาะการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับ SMEs และหลังผ่านการอบรม สสว. จะจ่ายเงินค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options ให้กับ SMEs จำนวน 30,000 บาทต่อกิจการ โดยให้ ธสน. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวแทน สสว. เพื่อให้ SMEs นำไปทดลองซื้อ FX Options กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการต่อไป ค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options ดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 50 (4) หรือมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ สสว. จ่ายเงินให้กับ SMEs จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามข้อเท็จจริง ธสน. เป็นผู้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมการใช้บริการ FX Options ดังกล่าว แทน สสว. ดังนั้น หาก สสว. ประสงค์จะให้ ธสน. ดำเนินการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทน สสว. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงิน เข้าลักษณะเป็นการกระทำแทนตัวการ ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สสว. จึงต้องแต่งตั้งให้ ธสน. เป็นตัวแทนดำเนินการดังกล่าวและมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร
2. หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามรูปแบบที่ ธสน. ส่งไปให้พิจารณานั้น มิได้ทำให้สาระสำคัญในการรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต่างไปจากแบบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62)ฯ ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 จึงอนุมัติให้ใช้แบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามรูปแบบที่ ธสน. ส่งไปให้พิจารณา ตามข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าวได้ โดย ธสน. ต้องแจ้งข้อความว่า แบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายนี้ ได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว โดยหนังสือที่ กค 0702/ ... ลงวันที่ ... ไว้ท้ายหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย