กค 0702/5394
31 กรกฎาคม 2557
มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร
77/39185
ส่วนราชการ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณภาษีเงินได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้พิจารณาเกี่ยวกับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ซึ่งจ่ายให้ข้าราชการตามคำสั่งกำลังพลของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นเงินที่จ่ายตามข้อ 10 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบ ค่าทดแทน และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือช่วยเหลือราชการ เนื่องในการป้องกันอธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ พ.ศ.2521 (ระเบียบสำนักนายกฯ) และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบค่าทดแทน และการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือช่วยเหลือราชการ เนื่องในการป้องกันอธิปไตย และรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ พ.ศ.2521 (ระเบียบกระทรวงการคลังฯ) เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้เบิกจ่าได้ ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับข้อ 2 (15) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เนื่องจากส่วนราชการมีกำลังพลที่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.)ในภารกิจอื่นๆ เช่น การปฏิบัติภารกิจตามกองกำลังป้องกันชายแดนในพื้นที่ต่างๆ รอบประเทศและปฏิบัติภารกิจในหน่วยเฉพาะกิจขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งภารกิจดังกล่าวเป็นการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงขอทราบว่า เงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) ดังกล่าว เป็นการจ่ายให้เฉพาะกำลังพลที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ไม่รวมผู้ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) สำหรับภารกิจอื่นใช่หรือไม่ อย่างไร
กรณีข้าราชการของส่วนราชการที่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษสำหรับการสู้รบ (พ.ส.ร.) เนื่องจากการปฏิบัติภารกิจในการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร และเงินดังกล่าวเป็นการจ่ายตามข้อ 10 แห่งระเบียบสำนักนายกฯ และระเบียบกระทรวงการคลังฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้เบิกจ่ายได้ จึงได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (15) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร