views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย

วันที่: 23 กรกฎาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6850

วันที่

23 กรกฎาคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 81 มาตรา 85 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39804

ข้อหารือ

          นาง ก.ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายได้จากการประกอบวิชาชีพทางกฎหมายให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย สัญญา งานทะเบียนนิติบุคคล การตรวจและจัดเตรียมงานเกี่ยวกับการวางแผน กำกับ ตรวจร่างคำฟ้อง คำให้การ คำเบิกความ โดยผู้ว่าจ้างจะไปว่าจ้างทนายความสำหรับการดำเนินคดีในศาล ซึ่งนาง ก.รับจ้างผู้ว่าจ้างหลายรายและได้รับเงินค่าจ้างเป็นการเหมาจ่ายรายเดือน นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็นกรรมการนิติบุคคลโดยได้รับค่าบำเหน็จกรรมการเป็นรายเดือน นาง ก.ได้หารือ ดังนี้

               1.เงินได้ประเภทค่าที่ปรึกษากฎหมาย ค่าบำเหน็จกรรมการ ค่ารับรองลายมือชื่อและค่าดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่

               2.กรณีที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว หากปีต่อมารายได้จากการประกอบอาชีพต่างๆ ข้างต้นไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี นาง ก.จะขอยกเลิกการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ หรือไม่ อย่างไร

               3.ภาษีซื้อที่เกิดจากค่าแบบพิมพ์ ค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาตการรับรองลายมือชื่อ ค่าเครื่องเขียน ค่าเดินทาง ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร เครื่องดื่ม จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ และ

               4.กรณีขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง การของดเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จะทำได้หรือไม่ และต้องดำเนินการ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1.กรณีที่นาง ก.ประกอบอาชีพให้คำปรึกษากฎหมาย จัดทำสัญญา ทำงานทะเบียนนิติบุคคล ตรวจและจัดเตรียมงานเกี่ยวกับการวางแผน กำกับร่างคำฟ้อง คำให้การ คำเบิกความ โดยผู้ว่าจ้างจะไปว่าจ้างทนายความสำหรับการดำเนินคดีในศาล ตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการว่าความ ที่จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ก.จึงมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่นาง ก.ทำหน้าที่เป็นกรรมการนิติบุคคล เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการ อันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตาม หากนิติบุคคลดังกล่าวเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด การกระทำดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 205) เรื่อง การกำหนดการกระทำที่ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) (ค) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2558 จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

          2.กรณีที่นาง ก.ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว หากต่อมามีมูลค่าของฐานภาษีไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสามปี นาง ก.มีสิทธิขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ตามมาตรา 85/10 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

          3.กรณีภาษีซื้อที่นาง ก.จะมีสิทธินำมาใช้ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ จะต้องปรากฏว่า ไม่เป็นภาษีซื้อที่ต้องห้ามไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/5 (1) (2) (3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535

          4.กรณีการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ปฏิบัติตามมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 57) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2537