views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยา

วันที่: 10 กรกฎาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6488

วันที่

10 กรกฎาคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39774

ข้อหารือ

          มีบันทึกขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2556 ราย นาย ก. โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

          1. เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 นาย ก. ได้จดทะเบียนสมรสกับนาง ข. นาย ก. และนาง ข. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 นาย ก. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.91) ปีภาษี 2556 โดยระบุสถานภาพการสมรสว่า "สมรสและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี" สถานะการยื่นแบบฯ ว่า"มีเงินได้รวมคำนวณภาษี" แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 574,368.96 บาท มีภาษีชำระเพิ่มเติม จำนวน 71.68 บาท

          2. เจ้าพนักงานประเมิน สท. ได้วิเคราะห์แบบแสดงรายการดังกล่าว ปรากฏว่า นาย ก. คำนวณภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากนำเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีมาใช้ จำนวน 300,000 บาท จึงใช้สิทธิเกินไป จำนวน 150,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีอากร ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ ภ.ง.ด.xxx ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2557 จำนวน 11,919 บาท และเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 นาย ก. ได้นำเงินไปชำระภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว พร้อมทั้งขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยา โดยมีเหตุผลว่าเพื่อแบ่งเบาภาระภาษี

          3. ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2557 นาย ก. ได้ยื่นคำอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีดังกล่าว โดยขอให้ยกเลิกการประเมิน

แนววินิจฉัย

          กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2557 นาย ก. และนาง ข. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2557 โดยระบุสถานภาพการสมรสว่า "สมรสและอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี" สถานะการยื่นแบบฯ ว่า "มีเงินได้รวมคำนวณภาษี" แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ของนาย ก. และนาง ข. จำนวน 574,368.96 บาท มีภาษีชำระเพิ่มเติม จำนวน 71.68 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้วิเคราะห์แบบฯ ดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่า นาย ก. คำนวณภาษีไม่ถูกต้อง เนื่องจากนำเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีมาใช้ จำนวน 300,000 บาท จึงใช้สิทธิเกินไป จำนวน 150,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว ซึ่งนาย ก. ได้ชำระภาษีและเงินเพิ่ม พร้อมทั้งขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษีของสามีและภริยา และได้ยื่นคำอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการประเมินภาษีอากรดังกล่าว ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อหนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งนาย ก. ไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีอากรดังกล่าว ได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์เพื่อคัดค้านการประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร และอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรณีดังกล่าว จึงไม่มีเหตุที่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการและเสียภาษี ตามมาตรา 57 ฉ วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด