views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเฉลี่ยภาษีซื้อ

วันที่: 27 กรกฎาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6940

วันที่

27 กรกฎาคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 77/2 มาตรา 82/6 และมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39805

ข้อหารือ

          1.บริษัท A ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันทางเรือเดินทะเล เช่น น้ำมันโซล่า เบนซิน น้ำมันหล่อลื่น เป็นต้น บริษัท A มีขอบเขตการให้บริการ คือ

               - ขนส่งภายในประเทศ (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม)

               - ขนส่งระหว่างประเทศ ผ่านประเทศไทย (เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0)

               - ขนส่งต่างประเทศ ไม่ผ่านประเทศไทย (ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัท A ได้นำเรือ 1 เรือ2 เรือ3 เรือ 4 และเรือ 5 ทำสัญญากับลูกค้าเพื่อให้บริการขนส่งทั้งภายในประเทศ ระหว่างประเทศ และในต่างประเทศ และบริษัท A มีรายได้จากการให้บริการขนส่งน้ำมันทางเรือเดินทะเล จากการตรวจคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2556 บริษัท A เฉลี่ยภาษีซื้อค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นจากการขนส่งภายในประเทศ และระหว่างประเทศทั้งหมด โดยใช้ฐานตามส่วนของรายได้ของปี 2555 ในอัตราร้อยละ 32.00 จึงขอทราบว่า

               1.เรือ 1 เรือ2 และเรือ 4 สามารถขอคืนภาษีซื้อค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในอัตราร้อยละ 32.00 ในแต่ละเดือนภาษี เนื่องจากเป็นการขนส่งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ส่วนการขนส่งต่างประเทศไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ ถูกต้องหรือไม่

               2.ในแต่ละเดือนภาษี เรือ 5 มีการให้บริการขนส่งภายในประเทศอย่างเดียว ไม่สามารถขอคืนภาษีซื้อได้ทั้งจำนวน ถูกต้องหรือไม่

               3.รายจ่ายที่เกิดขึ้นโดยตรงกับทรัพย์สินที่ใช้ร่วมกันในกิจการทั้ง 2 ประเภท สามารถเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ถูกต้องหรือไม่

แนววินิจฉัย

          1.กรณีบริษัท A ประกอบกิจการขนส่งน้ำมันทางเรือเดินทะเล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัท A ได้นำเรือ 1 เรือ2 เรือ3 เรือ 4 และเรือ 5 (จดทะเบียนเป็นเรือขนส่งระหว่างประเทศ) ทำสัญญากับลูกค้าเพื่อให้บริการขนส่งทั้งภายในประเทศ (ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระหว่างประเทศ (เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0) และในต่างประเทศ (ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อนำไปใช้ในกิจการทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัท A ไม่สามารถแบ่งแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าภาษีซื้ออันเกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวเป็นของกิจการประเภทใด บริษัท A มีสิทธิเฉลี่ยภาษีซื้อตามส่วนของรายได้ของปีที่ผ่านมา ตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 สำหรับการให้บริการขนส่งในต่างประเทศไม่ผ่านประเทศไทย ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร จึงเป็นรายได้ของกิจการที่ไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A จึงไม่ต้องนำรายได้ดังกล่าวมาเป็นรายได้ของกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบข้อ 2 (3) และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29)ฯ ลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535 ดังนั้น บริษัท A จึงไม่มีสิทธินำภาษีซื้อจากกิจการดังกล่าวไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535

          2.กรณีบริษัท A ใช้เรือ 5 ให้บริการขนส่งภายในประเทศเพียงอย่างเดียว บริษัท A ไม่มีสิทธินำภาษีซื้อที่เกิดจากกิจการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/5 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42)ฯ ลงวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535