views

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณา

วันที่: 9 สิงหาคม 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/พ./6282

วันที่

9 สิงหาคม 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 77/1 (10) มาตรา 77/2 (1) มาตรา 78/1 มาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และ 4 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40747

ข้อหารือ

          1. บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2535 ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน) โดยบริษัทฯ มิได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะแต่อย่างใด

          2. บริษัทฯ เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาบริเวณถนน พ.จากบริษัท ก.โดยทำสัญญาเช่า จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

               2.1 สัญญาฉบับที่ 1 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นการเช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาขนาดความกว้าง 10 เมตร สูง 3.1 เมตร กำหนดระยะเวลาเช่า 2 ปี นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2556 อัตราค่าเช่าเดือนละ 49,875 บาท

               2.2 สัญญาฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นการเช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาขนาดความกว้าง 6 เมตร สูง 2 เมตร กำหนดระยะเวลาเช่า 9 เดือน นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 อัตราค่าเช่าเดือนละ 49,875 บาท

          3. ต่อมา บริษัทฯ ได้นำพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาตามสัญญาเช่าตาม 2. ให้บริษัท ท.เช่าช่วง ตามสัญญาเช่าลงวันที่ 24 มกราคม 2554 กำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2555 อัตราค่าเช่าเดือนละ 146,200 บาท และให้บริษัท ทศ เช่าช่วง ตามสัญญาเช่าลงวันที่ 6 กันยายน 2555 กำหนดระยะเวลาเช่า 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2557 อัตราค่าเช่าในเดือนแรก (กุมภาพันธ์ 2555) เดือนละ 146,200 บาท และสำหรับเดือนต่อมา (มีนาคม 2555 ถึงมกราคม 2557) เดือนละ 280,000 บาท จึงขอหารือ ดังนี้

               3.1 การให้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่

               3.2 กรณีการให้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณาตามข้อเท็จจริงดังกล่าว เข้าลักษณะที่จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฯ หรือไม่

แนววินิจฉัย

          1. กรณีบริษัทฯ ให้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณา หากบริษัทฯ ไม่มีการส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้แก่ผู้เช่าโดยเด็ดขาด ประกอบกับบริษัทฯ อำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่าด้วยการเปิดและปิดไฟฟ้าของป้ายโฆษณา กรณีดังกล่าว ถือเป็นการให้บุคคลอื่นใช้พื้นที่ชั่วระยะเวลาอันจำกัด โดยบริษัทฯ ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองพื้นที่ให้แก่ผู้ใช้พื้นที่ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 (1) และมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/1 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเรียกเก็บค่าบริการโดยคิดเป็นอัตราร้อยละของรายได้ หรือเรียกเก็บในลักษณะเป็นค่าเช่าพื้นที่ หรือในลักษณะอื่นทำนองเดียวกัน

          2. กรณีบริษัทฯ ได้จดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามพระราชกำหนดฯ ต่อกรมสรรพากร บริษัทฯ ย่อมได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้น ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฯ อย่างไรก็ดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า สท ได้ตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้เช่าพื้นที่สำหรับติดตั้งสื่อโฆษณา ก่อนวันที่พระราชกำหนดฯ ใช้บังคับ และการตรวจยังไม่เสร็จสิ้น สท.กทม. 22 จึงสามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับกรณีดังกล่าวต่อไปได้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฯ ประกอบกับ ตัวอย่าง (ข) ของ 3. ของคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 4 มกราคม 2559