views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้

วันที่: 6 สิงหาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/7191

วันที่

6 สิงหาคม 2558

ข้อกฎหมาย

กฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)

เลขตู้

78/39814

ข้อหารือ

          บริษัทA ได้ให้บริการปรึกษาด้านกฎหมาย บริษัทB โดยให้บริการต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบสัญญา การจัดทำรายงานการประชุม รับรองงบการเงิน การจดทะเบียนแก้ไขกรรมการและอำนาจกรรมการ และอื่น ๆ ซึ่งบริษัทB ได้ค้างค่าบริการ เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ผู้ชำระบัญชีของบริษัทB ได้ร้องขอให้ บริษัทB ล้มละลาย และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดลูกหนี้เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2556 บริษัทA ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในมูลหนี้ค่าจ้างหรือค่าบริการและดอกเบี้ย รวมเป็นเงิน 3,828,198.07 บาท ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกัน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 โดยในวันดังกล่าว มีเจ้าหนี้เข้าร่วมประชุม 10 ราย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ทราบว่า ในคดีดังกล่าวมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างเจ้าหนี้ไม่มีประกัน จำนวน 12 ราย คดีไม่ปรากฏทรัพย์สิน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงให้เจ้าหนี้สืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ บรรดาเจ้าหนี้แถลงว่าไม่สามารถสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ และไม่คัดค้านการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานศาลขอปิดคดีไว้ก่อน บริษัทA จึงขอทราบว่า กรณีดังกล่าว บริษัทA มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ตามข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ได้หรือไม่ และเมื่อใด

แนววินิจฉัย

          การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ตามข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญในกรณีที่หนี้ของลูกหนี้แต่ละรายมีจำนวนเกิน 500,000 บาท และเป็นกรณีลูกหนี้ถูกฟ้องในคดีล้มละลาย ให้ดำเนินการเป็นขั้นตอนดังนี้ (1) เจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องลูกหนี้เป็นคดีล้มละลาย หรือได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องในคดีล้มละลาย (2) ลูกหนี้ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย และ (3) ได้มีการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกแล้ว โดยจะต้องมีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าวอย่างครบถ้วนเสียก่อน บริษัทA จึงจะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ สำหรับขั้นตอนการแบ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ครั้งแรกนั้น มาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ กำหนดไว้ว่า "ทรัพย์สินซึ่งเหลือจากที่กันไว้สำหรับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้โดยเร็ว การแบ่งทรัพย์สินต้องกระทำทุกระยะเวลาไม่เกินหกเดือนนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย..." เห็นได้ว่าการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องกระทำเพื่อให้คดีล้มละลายสำเร็จลุล่วงได้และต้องกระทำตามระยะเวลาที่กฎหมายล้มละลายกำหนดไว้ สำหรับคำว่า "การแบ่งทรัพย์สิน" นั้นหมายถึง กระบวนการที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้เพื่อจะได้ทำการแบ่ง แต่ไม่ได้หมายความไปถึงว่า เมื่อตรวจสอบและรวบรวมทรัพย์สินแล้วลูกหนี้จะต้องมีทรัพย์สินให้แบ่งเพื่อชำระหนี้ทุกครั้งไปจึงจะถือว่า เป็นการแบ่งทรัพย์สินที่สมบูรณ์ตามความหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หรือตามข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ดังนี้ กรณีลูกหนี้จะมีทรัพย์สินให้แบ่งหรือไม่จึงมิใช่สิ่งที่แสดงว่า ได้มี "การแบ่งทรัพย์สิน" แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่งและเพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถยื่นคำขอปิดคดีล้มละลายต่อศาลได้ ระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีล้มละลายและการชำระบัญชี พ.ศ. 2520 ข้อ 77 ได้กำหนดแนวทางให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการเพื่อขอให้ศาลสั่งปิดคดีได้โดยในการเสนอปิดคดีของลูกหนี้ในกรณีที่ไม่มีทรัพย์สินจะให้แบ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำรายงานเสนอปิดคดีเป็นประเภท "ไม่มีทรัพย์สินแบ่ง" ดังนั้น กรณีการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้สำหรับลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายและศาลได้พิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วนั้นจึงต้องปรากฏว่า ได้มีการปฏิบัติตามขั้นตอนของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ครบถ้วนทั้ง 3 ขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 (3) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534)ฯ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเสียก่อน บริษัทA จึงจะจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร