กค 0702/6764
29 สิงหาคม 2561
มาตรา 40 (8), มาตรา 70, มาตรา 77/2, มาตรา 83/6 (2) และมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
81/40790
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จ่ายเงินค่าบริการให้แก่ บริษัท ก ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ดังนี้
1. ธปท. ทำสัญญากับบริษัทก เพื่อซื้อบริการการค้นหาข้อมูลและบริการอื่นๆ ในระบบ ซึ่งพัฒนาโดยเครือข่ายของบริษัท ก เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยชำระค่าบริการล่วงหน้ารายปี
2. ธปท. มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการจ่ายค่าบริการดังกล่าวไปให้แก่บริษัท ก หรือไม่
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณี ธปท. จ่ายค่าบริการการค้นหาข้อมูลและบริการในระบบดังกล่าว ให้แก่บริษัท ก หากการให้บริการของบริษัท ก เป็นการให้บริการในต่างประเทศ โดยมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย และการให้บริการดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ ที่เป็นการให้เทคโนโลยีหรือข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือวิทยาศาสตร์ ค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อ ธปท. จ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่หักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายและนำส่งแต่อย่างใด ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณี ธปท. จ่ายค่าบริการให้แก่บริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นการจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ดังนั้น ธปท. จึงมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียในอัตราร้อยละ 7.0 ของเงินที่จ่าย ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 36) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่าย ตามมาตรา 83/6 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งภาษีเงินได้ การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2544