views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของกรรมการและพนักงาน

วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2559
เลขที่หนังสือ

กค 0702/1034

วันที่

8 กุมภาพันธ์ 2559

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

79/39990

ข้อหารือ

          นาย ก.ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของกรรมการและพนักงาน นาย ก.เป็นกรรมการและเป็นลูกจ้างของบริษัท ท. (บริษัทฯ) ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2552 และปี 2553 บริษัทฯ ได้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญให้แก่นาย ก.จำนวน 600,000 หน่วย ราคาหน่วยละ 0 บาท และราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ 2.50 บาทต่อหุ้น โดยใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญมีเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือ นาย ก.ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญจำนวนดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ราคารวม 1,500,000 บาท โดยหุ้นสามัญของบริษัทฯ ที่นาย ก.ใช้สิทธิซื้อมาได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ให้นำเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2558 นาย ก.หารือ ดังนี้

          1.เงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญตามข้อเท็จจริงดังกล่าว จะต้องใช้ราคาหุ้นที่ราคาใด

          2.บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการซื้อหุ้นสามัญนั้น หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          1. เนื่องจากในวันที่นาย ก.ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญ หุ้นของบริษัทฯ มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดังนั้น ในการคำนวณเงินได้พึงประเมิน ให้คำนวณจากราคาหุ้นเท่ากับราคาเฉลี่ยในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่นาย ก.ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นหักด้วยราคาใช้สิทธิ ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้น หรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

          2.เนื่องจากนาย ก.เป็นกรรมการและเป็นลูกจ้างของบริษัทฯ ดังนั้น เงินได้พึงประเมินที่ได้รับเนื่องจากการใช้สิทธิซื้อหุ้นตามใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร