กค 0702/6283
28 สิงหาคม 2557
ดอกเบี้ยเงินคืน
77/39232
1. นาย ย. และนาย ธ. เดิมเป็นพนักงานธนาคาร อ. นาย ย. พ้นจากตำแหน่งพนักงาน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 เนื่องจากธนาคาร อ. ให้เกษียณอายุก่อนกำหนด อายุงาน 34 ปี และนาย ธ. พ้นจากตำแหน่งพนักงาน องค์กร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 เนื่องจากธนาคาร อ.ให้ลาออกตามโครงการร่วมใจจากองค์กร เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2543 อายุงาน 35 ปี ซึ่งนาย ย. และนาย ธ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91) ปีภาษี 2547 และขอคืนเงินภาษีอากร ดังนี้
1.1 นาย ย. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 546,210 บาท(เงินบำนาญ 242,760 บาท และเงินบำเหน็จดำรงชีพ 303,450 บาท) เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 18,250 บาท ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 39,358.50 บาท มีภาษีชำระไว้เกิน และขอคืนเงินภาษี จำนวน 1,912.50 บาท และได้รับคืนเงินภาษีไปแล้ว จำนวน 1,912.50 บาท เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2548
1.2 นาย ธ. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร จำนวน 1,028,349 บาท (เงินบำนาญ 457,044 บาท และเงินบำเหน็จดำรงชีพ 571,305 บาท) ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จำนวน 141,965.40 บาทมีภาษีชำระไว้เกิน และขอคืนเงินภาษี จำนวน 21,108.18 บาท และได้รับคืนเงินภาษีไปแล้ว จำนวน 21,107.98 บาท เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2548
2. ต่อมากรมสรรพากรได้มีหนังสือลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานธนาคาร อ. โดยระบุว่า กรณีเงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการ ที่พนักงานธนาคาร อ.ได้รับสำหรับบำเหน็จดำรงชีพจำนวนสองแสนบาทได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2 (73) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร สำหรับบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกินกว่าสองแสนบาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เจ้าหน้าที่จึงได้ปรับปรุงรายการการคำนวณภาษีเงินได้ตามหนังสือดังกล่าว และพิจารณาคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยจากเงินต้น ให้แก่นาย ย. และนาย ธ. ตามผลการวิเคราะห์รายการใหม่
3. เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2556 นาย ย. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) สำหรับปีภาษี 2547 ขอคืนเงินภาษี จำนวน 60,000 บาท โดยไม่ได้ระบุมูลเหตุที่ขอคืน และวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 นาย ธ. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) สำหรับปีภาษี 2547 โดยไม่ได้ระบุจำนวนเงินภาษีที่ขอคืน และมูลเหตุที่ขอคืนแต่อย่างใด ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่ฯ ได้ปรับปรุงรายการคำนวณภาษี โดยนำเงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกินสองแสนบาทมาคำนวณเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร และสั่งคืนเงินภาษีโดยหักเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนไปแล้ว แต่ไม่ได้คำนวณดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษี
ตามข้อเท็จจริงนาย ย. และนาย ธ. ได้ยื่นแบบฯ สำหรับปีภาษี 2547 ภายในกำหนดเวลา โดยนำเงินได้ที่ได้รับจากบำเหน็จดำรงชีพ ซึ่งธนาคาร อ.ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ มารวมคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อคำนวณแล้วมีภาษีชำระเกิน และได้รับเงินคืนภาษีไปแล้ว ทั้ง 2 ราย ต่อมากรมสรรพากรได้มีหนังสือที่ กค 0706/ว.5263ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2550 โดยระบุว่า เงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพของข้าราชการที่พนักงานธนาคาร อ.ได้รับสำหรับบำเหน็จดำรงชีพจำนวนสองแสนบาท ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (73) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ สำหรับบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกินกว่าสองแสนบาท ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เจ้าหน้าที่จึงได้ปรับปรุงรายการการคำนวณภาษีเงินได้ตามหนังสือดังกล่าวเมื่อคำนวณภาษีใหม่ปรากฏว่า มีภาษีชำระเกิน และเมื่อหักภาษีที่รับคืนไปแล้ว จึงคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยให้ทั้ง 2 ราย ต่อมานาย ย. และนาย ธ. ได้ยื่นคำร้อง ค.10 ขอคืนเงินภาษี สำหรับปีภาษี 2547 เนื่องจากกรมสรรพากรได้มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556ซ้อมความเข้าใจกรณีการคำนวณเงินบำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกินสองแสนบาท ให้ปรับปรุงรายการคำนวณภาษีในส่วนของเงินบำเหน็จดำรงชีพโดยคำนวณแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว ย่อมเข้าลักษณะเป็นการขอคืนเงินภาษีอากรเนื่องจากมีการปรับปรุงการคำนวณภาษีใหม่ ในส่วนของเงินบำเหน็จดำรงชีพโดยคำนวณแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และได้นำมายื่นแบบฯ ไว้แล้วโดยรวมคำนวณกับเงินได้อื่น ดังนั้น การคืนเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ซึ่งเกินกว่าภาษีที่ต้องชำระ การคำนวณดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ ถ้าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรต้องยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินภาษีอากรที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 1 (1) (ก) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526)ฯ