views

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตน

วันที่: 20 กันยายน 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/7359

วันที่

20 กันยายน 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40807

ข้อหารือ

          1.บริษัทฯ ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่าย ให้บริการออกแบบวิจัยพัฒนา ทดสอบ และติดตั้งระบบอัตโนมัติทางเครื่องจักรกล งานไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ และประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีของระบบกำหนดรหัสประจำตัวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (RFID) และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ขายส่งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นำเข้า และส่งออก และให้การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

          2.ตั้งแต่ปี 2559 ถึงปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 38 (TAS 38) เรื่อง สินทรัพย์ไม่มีตัวตนมาใช้ เพื่อให้งบการเงินของบริษัทฯ สามารถสะท้อนประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการลงทุนพัฒนาสินค้าได้ถูกต้องยิ่งขึ้น ด้วยการแยกต้นทุนการพัฒนาสินค้าใหม่บันทึกเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ตัวอย่างของกิจกรรมการพัฒนา เช่น การออกแบบไมโครชิพ ก่อสร้างและทดสอบต้นแบบก่อนการผลิตการออกแบบเครื่องมือ โครงประกอบ แม่พิมพ์ และเบ้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ เป็นต้น

          3.ขณะนี้บริษัทฯ มีสินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่พร้อมจำหน่ายเพื่อสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว บริษัทฯ ประเมินว่าสินทรัพย์ไม่มีตัวตนดังกล่าวมีอายุการให้ประโยชน์ที่สามารถทราบได้แน่นอนโดยกำหนดจากจำนวนการผลิต และดำเนินการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนตามต้นทุนต่อหน่วยของจำนวนผลผลิตที่คาดว่าจะผลิตตลอดอายุการให้ประโยชน์ของโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ การตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนดังกล่าว บริษัทฯ บันทึกเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุน และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

          4.บริษัทฯ จึงขอหารือว่า กรมสรรพากรมีความเห็นสอดคล้องในการบันทึกค่าใช้จ่ายจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ไม่มีตัวตนจากจำนวนการผลิตตามแนวทางของมาตรฐานบัญชี และนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าใช้จ่ายในการออกแบบไมโครชิพ ก่อสร้างและทดสอบต้นแบบก่อนการผลิต การออกแบบเครื่องมือ โครงประกอบ แม่พิมพ์ และเบ้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ซึ่งก่อให้เกิดต้นแบบของสินค้าใหม่อันเป็นทรัพย์สินที่มีอายุการใช้งานเกินหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน จึงต้องห้ามไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯ มีสิทธินำไปคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 และมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน(ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527