กค 0702/8247
18 กันยายน 2556
มาตรา 67 มาตรา 77/1(10) มาตรา 72/2(1) มาตรา 80/1(3) มาตรา 82/5(3) และมาตรา 82/3 แห่ง ประมวลรัษฎากร
76/36844
1. บริษัทฯ เป็นบริษัทซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยาน ในการประกอบกิจการบางกรณีบริษัทฯ ประสบปัญหาไม่สามารถรับส่งผู้โดยสารได้ เป็นเหตุให้ต้องรับผิดเสียค่าใช้จ่ายตามนโยบายของบริษัทฯ มีรายละเอียดดังนี้
(1)กรณีปฏิเสธการรับผู้โดยสาร อันเนื่องจากความผิดพลาดในการจองตั๋วโดยสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยผู้โดยสารซึ่งได้จองตั๋วโดยสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้รับการยืนยันการจองตั๋วแต่ในระบบของบริษัทฯ ไม่ปรากฏการจอง เป็นเหตุให้ผู้โดยสารดังกล่าวไม่มีชื่อในเที่ยวบินนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถหาที่นั่งสำรองให้กับผู้โดยสารได้ จึงต้องจัดหาที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร
(2)กรณียกเลิกเที่ยวบิน อันเนื่องมาจากเครื่องยนต์มีปัญหา หรือสภาพอากาศแปรปรวน หรือมีการปิดสนามบิน และกรณีเที่ยวบินล่าช้า เนื่องจากเครื่องยนต์มีปัญหาหรือสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดของบริษัทฯ จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พักค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ให้แก่ผู้โดยสารบริษัทฯ จึงหารือว่า บริษัทฯ สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังกล่าวได้หรือไม่
2. สภ. มีความเห็นดังนี้
(1)ภาษีเงินได้นิติบุคคล
กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อเกิดความผิดพลาดจากการให้บริการ บริษัทฯ จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่พัก ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ค่าโทรศัพท์ และค่าบริการอื่นให้แก่ผู้โดยสาร ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการเฉพาะ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
แต่เนื่องจากบริษัทฯ เป็นบริษัทสายการบินที่มีสำนักงานแห่งใหญ่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ค่าบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศของบริษัทฯ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการดำเนินการเดินอากาศยานในการจราจรระหว่างประเทศ ดังนั้น ค่าบริการขนส่งดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย ตามข้อ 8 แห่งความตกลงระหว่างประเทศไทยกับประเทศสิงคโปร์เพื่อการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18)ฯ พ.ศ. 2505 จึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริการดังกล่าว
(2)ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยานซึ่งได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อเกิดความผิดพลาดจากการให้บริการ ทำให้ผู้โดยสารไม่สามารถเดินทางได้ตามเวลาที่กำหนดและเมื่อบริษัทฯ ต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่าย เป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ค่าโทรศัพท์ และค่าบริการอื่นต่อผู้โดยสาร ถือเป็นรายจ่ายที่เกิดจากการให้บริการหรือรายจ่ายเพื่อกิจการ บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อที่เกิดจากรายจ่ายดังกล่าวมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่
1. ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเกาะสมุยกับประเทศสิงคโปร์โดยอากาศยาน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับขนคนโดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยาน บริษัทฯ มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้
1.1 ในกรณีรับขนคนโดยสาร ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าโดยสารค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
1.2 ในกรณีรับขนของ ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ของค่าระวาง ค่าธรรมเนียมและประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บไม่ว่าในหรือนอกประเทศไทยก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนของออกจากประเทศไทยนั้น
กรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ ต้องนำค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในประเทศไทยเนื่องในการรับขนคนโดยสารก่อนหักค่าใช้จ่ายใดๆ มาคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 3 ตามมาตรา 67 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าขนส่ง ค่าโทรศัพท์ และค่าบริการอื่นที่จ่ายให้แก่ผู้โดยสารอันเกิดจากความผิดพลาดของบริษัทฯ มาเป็นรายจ่ายในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในกรณีนี้ได้
2. ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารระหว่างประเทศโดยอากาศยาน เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ได้รับสิทธิในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ภาษีซื้อที่บริษัทฯ จ่ายเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อชดเชยความเสียหายอันเกิดแก่ผู้โดยสารอันเนื่องมาจากความผิดพลาดจากการให้บริการของบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริง เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ สามารถนำภาษีซื้อไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้