views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ราย บริษัทหลักทรัพย์ ค. จำกัด

วันที่: 9 กันยายน 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6472

วันที่

9 กันยายน 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

77/39258

ข้อหารือ

          1.บริษัทฯ ได้จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ให้แก่ ก.ล.ต. จำนวน 100,000,000 บาท เมื่อปี 2548 ซึ่งบริษัทฯ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการบันทึกบัญชี ปรากฏตามตารางดังต่อไปนี้

                  ปี                  หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางภาษี(ร้อยละ 10)                  หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทางบัญชี(ร้อยละ 20)                  บวกกลับ(หักออก)      ในแบบภ.ง.ด.50

                  2548                                    5,997,716.87                                                        11,995,433.80                                    5,997,716.93

                  2549                                    10,000,000.00                                                      20,000,000.00                                  10,000,000.00

                  2550                                    10,000,000.00                                                      20,000,000.00                                  10,000,000.00

                  2551                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2552                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2553                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2554                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2555                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2556                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2557                                    10,000,000.00                                                      -                                                    (10,000,000.00)

                  2558                                      4,002,283.13                                                      -                                                      (4,002,283.13)                  รวม                                     100,000,000.00                                                      51,995,433.8                                 (48,004,566.20)

          2.บริษัทฯ ได้มีหนังสือหารือ ว่า กรณีที่มูลค่าใบอนุญาตการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ คงเหลือทางบัญชีจำนวน 48,004,566.20 บาท ซึ่งบริษัทฯ ไม่ได้ลงรายจ่ายทางบัญชีตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 เป็นต้นมานั้น บริษัทฯ จะนำไปหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในทางภาษีอากร ในอัตราร้อยละ 10 ต่อไปจนครบจำนวน 100,000,000 บาท ได้หรือไม่

แนววินิจฉัย

          ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีนั้น เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และอัตราที่จะหักอย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมาย ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ดังนั้น กรณีที่บริษัทฯ ได้เลือกที่จะหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา โดยใช้วิธีเส้นตรงและในอัตราที่ไม่เกินอัตราร้อยละของมูลค่าต้นทุนตามมาตรา 4 (4) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 แล้ว บริษัทฯ จึงต้องใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป โดยจะต้องคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา แต่อย่างไรก็ดี หากในระหว่างการใช้ทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทฯ มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงวิธีการทางบัญชี จะต้องยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร และเมื่ออธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดีกรมสรรพากรมอบหมายอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงแล้ว บริษัทฯ จึงจะถือปฏิบัติได้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับอนุมัตินั้น