views

เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการตรวจสอบและประเมินภาษีอากรของผู้ประกอบการจดแจ้งบัญชีชุดเดียว

วันที่: 21 กันยายน 2561
เลขที่หนังสือ

กค. 0702/พ./7403

วันที่

21 กันยายน 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 82/5 (1) และ มาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40809

ข้อหารือ

          กรณีการตรวจสอบและประเมินภาษีอากรของผู้ประกอบการจดแจ้งบัญชีชุดเดียว ราย บริษัท ค.(บริษัทฯ)มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

               1. บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการจัดการอสังหาริมทรัพย์ ได้รับสิทธิจดแจ้งเป็นผู้ประกอบการตามกฎหมายว่าด้วยการยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

               2. วันที่ 23 มีนาคม 2559 บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2559 จำนวนเงิน 2,869,797.86 บาท

               3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่(สท.) เข้าตรวจสภาพกิจการและตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2559 ตามหนังสือนำตัวที่ พบว่าเป็นการขอคืนภาษีที่เครดิตติดพันยอดยกมาตั้งแต่เดือนภาษีกันยายน 2546 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2559

               4. การตรวจปฏิบัติการเฉพาะประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มเติมสำหรับเดือนภาษีกันยายน 2546 ถึงเดือนภาษีมกราคม 2559 ผลการตรวจปรากฏดังนี้

                    4.1 บริษัทฯ นำภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้ในเดือนภาษีตุลาคม 2546 ถึงเดือนภาษีพฤศจิกายน 2548 และภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (1)แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้ในเดือนภาษีกรกฎาคม 2550 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2552 ส่งผลให้เครดิตภาษีที่บริษัทฯ ใช้เกินกว่าที่ควร โดยบริษัทฯ มีภาษีที่ต้องชำระเนื่องจากภาษีขายสูงกว่าภาษีซื้อเริ่มตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2552 ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2559

                    4.2 จากผลการตรวจตามข้อ 4.1 บริษัทฯ มีภาษีที่ได้คืนสำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2559 จำนวน 4,508.13 บาท ภาษีที่ไม่ได้คืนจำนวน 2,865,289.73 บาท และมีภาษีอากรที่ต้องประเมินสำหรับเดือนภาษีมิถุนายน 2555 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2555 เดือนภาษีพฤศจิกายน 2555 ถึงเดือนภาษีกันยายน 2557 และเดือนภาษีพฤศจิกายน 2557 ถึงเดือนภาษีธันวาคม 2558 รวมจำนวนภาษีที่ต้องชำระ 1,134,355.77 บาท และเงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 จำนวน 612,563.13 บาท รวมภาษีและเงินเพิ่ม 1,746,918.90 บาท

               5. สท. ได้แจ้งผลการตรวจต่อบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 และได้แนะนำให้บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเพื่อชำระภาษีและเงินเพิ่มตามผลการตรวจข้อ 4.2 แต่บริษัทฯ ไม่ยินยอม

               6. ต่อมา เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 สท. ได้ขออนุมัติประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ สรรพากรภาค (สท.) โดยใช้อำนาจตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 0สภ. ได้อนุมัติให้ใช้อำนาจการประเมินดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่า แม้ว่าบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่ส่วน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความรับผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 แต่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจทำการตรวจสอบภาษีอากรที่ขอคืน ไต่สวน และประเมินภาษีอากรได้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558

แนววินิจฉัย

          1. บริษัทฯ จดแจ้งเป็นนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร ตามพระราชกำหนดฯ และปัจจุบันไม่พบข้อมูลการถูกเพิกถอนสิทธิแต่อย่างใด จึงได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีที่มีวันเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 หรือมูลค่าของฐานภาษี รายรับ หรือการกระทำตราสารที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 สท. จึงไม่มีอำนาจการประเมินภาษีหรือสั่งให้เสียภาษีอากรสำหรับมูลค่าของฐานภาษีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่มีอำนาจประเมินตามผลการตรวจตั้งแต่เดือนภาษีมกราคม 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฯ และข้อ 4 (2) ของคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 4 มกราคม 2559

          2. กรณีผลการตรวจสอบบริษัทฯ มีภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (1) และ (3) แห่งประมวลรัษฎากร มาหักจากภาษีขาย บริษัทฯ จึงมีภาษีซื้อยื่นไว้เกินไป ซึ่งข้อเท็จจริงบริษัทฯ มีภาษีที่ต้องชำระไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 5 แห่งพระราชกำหนดฯ และข้อ 4 (2) ของคำชี้แจงกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 4 มกราคม 2559

          3. กรณีนำเครดิตชำระเกินยกมาใช้มากกว่าเครดิตภาษีที่มีอยู่จริง สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นก่อนเดือนภาษีมกราคม 2559 หากไม่ได้ออกตรวจโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 88/3 แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากรได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดฯ