views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม

วันที่: 14 ตุลาคม 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/7643

วันที่

14 ตุลาคม 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 77/2(1) มาตรา 82(1) มาตรา 85/1(1) มาตรา 88(1) มาตรา 88(6)มาตรา 88/2 วรรคสอง มาตรา 88/5 มาตรา 89(1) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

77/39319

ข้อหารือ

          นางสาว จ. มีรายรับจากการประกอบกิจการ สำหรับปี 2552 เกินกว่ามูลค่าของฐานภาษีกิจการขนาดย่อม (1.8 ล้านบาท) โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้ยื่น คำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 สรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

          1. สท. ได้วิเคราะห์ข้อมูล ภ.ง.ด.3 สำหรับปี 2550 ถึง ปี 2555 พบว่า นางสาวจ. มีรายรับจากการประกอบกิจการ ดังนี้

          ปี 2552          จำนวน 2,174,820.25 บาท

          ปี 2553          จำนวน 2,345,644.08 บาท

          ปี 2554          จำนวน 1,515,456.- บาท

          ปี 2555          จำนวน 2,923,300.- บาท

          ปี 2556 เดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ไม่มีรายรับ

          2. นางสาว จ. มีรายรับจากการประกอบกิจการเกินกว่า 1,800,000 บาทตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 โดยมิได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้มายื่นคำร้องขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ซึ่งเป็นเดือนที่นางสาว จ. ไม่มีรายรับนั้น เจ้าพนักงาน สท. เห็นว่า ควรประเมินผู้เสียภาษีโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 88 มาตรา88/2 มาตรา 88/5 มาตรา 89(1) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินเบี้ยปรับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกรณีประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนสภ. ได้พิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณา ดังนี้

               1. กรณีการจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว ถือได้หรือไม่ว่า เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77/1(23) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ให้ความหมาย "เดือนภาษี" คือ เดือนประดิทิน ซึ่งจะทำให้เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจประเมินภาษีในเดือนกุมภาพันธ์ 2556

               2. แต่ถ้ากรณีที่กรมสรรพากรเห็นว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่นางสาว จ. ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าพนักงานต้องประเมินภาษี พร้อมเบี้ยปรับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกรณีประกอบการโดยไม่จดทะเบียน จะคิดเบี้ยปรับเฉลี่ยเป็นรายวันหรือคิดเบี้ยปรับทั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2556

แนววินิจฉัย

          1. นางสาว จ. มีรายรับจากการประกอบกิจการเกินกว่า 1,800,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ตามมาตรา 77/2(1) มาตรา 82(1) และมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่นางสาว จ. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 จึงเป็นการประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม นางสาว จ. ต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและ เงินเพิ่ม ตามมาตรา 82(1) มาตรา 89(1) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และค่าปรับอาญา ตามมาตรา 90/2(2) แห่งประมวลรัษฎากร

          2. กรณีดังกล่าว เจ้าพนักงานจะต้องประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนภาษีย้อนหลังตั้งแต่เดือนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ เพราะการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต้องยื่น เป็นรายเดือนภาษี ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556 นางสาว จ. ยังมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ในเดือนภาษีดังกล่าวยังไม่มีรายรับ แต่นางสาว จ. มีรายรับเกินกว่า 1,800,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 แล้ว จึงเป็นการประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้เสียเบี้ยปรับสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษีที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวหรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ตามมาตรา 89(1) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมิน สำหรับเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2556 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 88(1) มาตรา 88 (6) ประกอบกับมาตรา 88/2 วรรคสอง มาตรา 88/5 มาตรา 89 (1) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร