กค 0702/7642
14 ตุลาคม 2557
มาตรา 86/4 มาตรา 86/4 มาตรา 86/6 มาตรา 77/1 และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
77/39318
บริษัทฯ ประกอบกิจการส่งออก ขายส่ง วัตถุดิบ ส่วนประกอบ และชิ้นส่วนสำหรับเคมีภัณฑ์ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องกีฬา บริษัทฯ ดำเนินการจัดทำเอกสารตามพิธีการทางศุลกากรผ่านระบบ E-PAPERLESS บริษัทฯ ได้ติดต่อค้าขายกับลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทฯจึงขออนุมัติจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาญี่ปุ่น และเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศหน่วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และเยนญี่ปุ่น และขอออกใบกำกับภาษีในอัตราร้อยละ 0
ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีความประสงค์ที่จะจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และหรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน ทั้งนี้ ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อ 4 และข้อ 5 (1) (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศ หรือเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 และมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 21พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยจะต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งส่งสินค้าไปขายในต่างประเทศแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร หรือผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งการให้บริการได้กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ แต่ไม่เป็นไปตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด จึงไม่ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0 ตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
บริษัทฯ ประกอบกิจการทั้งขายสินค้าในประเทศและส่งออกสินค้าจึงแยกพิจารณาได้ดังนี้
1.บริษัทฯ ขายส่ง วัตถุดิบ ส่วนประกอบ และชิ้นส่วนสำหรับเคมีภัณฑ์ ยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องกีฬา ให้กับลูกค้าในประเทศไทย ถือเป็นการขายสินค้าในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 5 (1) และ (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 92)ฯ ลงวันที่ 21พฤษภาคม พ.ศ. 2542 บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขออนุมัติจัดทำรายการในใบกำกับภาษี ตามมาตรา86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ และเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศอย่างไรก็ดี กรณีที่บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีมีรายการครบถ้วน ตามมาตรา 86/4แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว หากบริษัทฯ ประสงค์จะเพิ่มเติมรายการหน่วยเงินตราต่างประเทศไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวก็สามารถกระทำได้
2.บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อในต่างประเทศ และเป็นผู้ดำเนินพิธีการศุลกากรส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นผู้ส่งออกตามมาตรา 77/1 (13) และ (14) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0ตามมาตรา 80/1 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ต้องออกใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกำหนดให้ใบกำกับภาษีมีรายการเช่นเดียวกันกับใบกำกับสินค้าซึ่งผู้ส่งออกได้ออกเป็นปกติตามประเพณีทางการค้าระหว่างประเทศ ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม(ฉบับที่ 21) เรื่อง กำหนดรายการในใบกำกับภาษีของสินค้าหรือบริการบางกรณี ตามมาตรา 86/5 (1) และ (2)แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และข้อ 3 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 92)ฯ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 โดยไม่ต้องขออนุมัติจัดทำรายการในใบกำกับภาษีเป็นภาษาต่างประเทศ หรือหน่วยเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร