กค 0702/7840
20 ตุลาคม 2557
มาตรา 42 แห่ง ป.พ.พ. มาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 43 วรรคหนึ่ง ของระเบียบตรวจสอบฯ พ.ศ. 2550
77/39344
กรณีแสดงยอดซื้อไว้เกินและใช้ใบกำกับภาษีปลอม สำหรับเดือนภาษีมกราคม 2551 เดือนภาษีเมษายน ถึงเดือนภาษีพฤษภาคม 2551 เดือนภาษีกันยายน 2551 และเดือนภาษีมกราคม ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2552 รวม 6 เดือนภาษี ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ลงวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยระบุชื่อผู้ประกอบการในหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็น "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร." แต่เนื่องจากห้างฯ ได้จดทะเบียนเลิกห้างฯ ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2553 ก่อนการประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน และมีผู้ชำระบัญชีของห้างฯ คือ นาย ก. ซึ่งการระบุชื่อผู้ประกอบการที่ถูกต้องควรเป็น "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยนาย ก. ผู้ชำระบัญชี" ดังนั้น สท. จึงขออนุมัติยกเลิกการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว
กรณีตามข้อเท็จจริง การประเมินภาษีห้างฯ ภายหลังจากจดทะเบียนเลิกกิจการ และอยู่ระหว่างการชำระบัญชี เนื่องจากห้างฯ ยังคงสภาพนิติบุคคลอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จึงต้องประเมินภาษีห้างฯ ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรและแจ้งการประเมินไปยังผู้ชำระบัญชี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการของห้างฯ ณ สำนักงานผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1249 มาตรา 1250 และมาตรา 1259 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การที่ สท. ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มห้างฯ เดือนภาษีมกราคม 2551 เดือนภาษีเมษายน ถึงเดือนภาษีพฤษภาคม 2551 เดือนภาษีกันยายน 2551 และเดือนภาษีมกราคม ถึงเดือนภาษีกุมภาพันธ์ 2552 ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ลงวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยระบุชื่อผู้ประกอบการในหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็น "ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร."และระบุที่อยู่เป็นจังหวัด... เป็นสถานประกอบการของห้างฯ และตรงกับที่อยู่ของสำนักงานของผู้ชำระบัญชีตามที่แจ้งไว้กับกระทรวงพาณิชย์ แม้มิได้ระบุชื่อนาย ก. ผู้ชำระบัญชี ตามแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากร ตามบันทึกลงวันที่ 10 สิงหาคม 2549 ข้อ 12 กรณีดังกล่าวถือได้ว่า สท. ได้ประเมินภาษีอากรห้างฯ และแจ้งการประเมินภาษีอากร (ภ.พ.73.1) ดังกล่าว ต่อผู้ชำระบัญชีของห้างฯ ณ ภูมิลำเนาเฉพาะการเกี่ยวกับการชำระบัญชี ตามมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วยวิธีการส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว การประเมินภาษีอากรดังกล่าวจึงชอบด้วยมาตรา 1249 มาตรา 1250 มาตรา 1259 และมาตรา 42 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 39 ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินภาษีอากรดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อไม่ตรง หรือผิดกับแนวทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรได้วางและสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตาม บันทึกที่ กค 0726/ว.6746 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2549 อาจเป็นเหตุให้ห้างฯ และผู้ชำระบัญชีของห้างฯ ยกเหตุดังกล่าวขึ้นเป็นข้อโต้แย้งได้ ดังนั้น จึงให้ สภ.4 ดำเนินการอนุมัติยกเลิกการประเมินภาษีอากรดังกล่าว และให้ สท.รี จัดทำหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ใหม่ สำหรับการประเมินภาษี มูลค่าเพิ่มของเดือนภาษีที่อยู่ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามข้อ 43 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2550 โดยในการปฏิบัติงานในกรณีต่อไป เจ้าหน้าที่ต้องถือปฏิบัติตามระเบียบแนวทางปฏิบัติและคู่มือของกรมสรรพากรที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด