views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรายรับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

วันที่: 6 ตุลาคม 2558
เลขที่หนังสือ

กค 0702/9061

วันที่

6 ตุลาคม 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 77/1(8) (10) และมาตรา 81 (1) (ท) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39888

ข้อหารือ

          1.สถาบัน ก เป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นนิติบุคคลภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 โดยมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

               1.1จัดทำแผนหลักเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉินเสนอต่อ กพฉ.

               1.2จัดทำมาตรฐานและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับระบบการแพทย์ฉุกเฉินเสนอต่อ กพฉ. รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติการฉุกเฉินตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ที่ กพฉ.กำหนด

               1.3จัดให้มีระบบปฏิบัติการฉุกเฉิน รวมถึงการบริหารจัดการและการพัฒนาระบบสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติการฉุกเฉิน

               1.4ศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน

               1.5จัดให้มีการศึกษาและฝึกอบรมการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน

               1.6ประสานงาน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติการฉุกเฉิน

               1.7เป็นศูนย์กลางประสานกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ดำเนินงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน

               1.8เรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินและการดำเนินกิจการของสถาบัน

          2.สถาบัน ก เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2558 รายได้ของ สถาบัน ก ประกอบด้วยเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาค รายได้จากค่าบริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน และการดำเนินกิจการของ สถาบัน ก ซึ่งเงินและทรัพย์สินของ สถาบัน ก ไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

          3.สถาบัน ก ขอทราบว่า รายรับดังต่อไปนี้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่

               3.1สถาบัน ก ได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 และเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 33 และมาตรา 34 (1) แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551

               3.2สถาบัน ก มีรายรับค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายจาก บริษัท A คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด จากการดำเนินงานของ สถาบัน ก ตามรายงานการจ่ายค่าสินไหมทดแทน และข้อ 2 ของแนวทางปฏิบัติตามบันทึกความร่วมมือการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ประสบภัยจากรถระหว่าง สถาบัน ก กับ บริษัท A คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และสมาคมประกันวินาศภัยไทย

               3.3ค่าลงทะเบียน และค่าเช่าพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในการจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

แนววินิจฉัย

          1.กรณีตาม 3.1 สถาบัน ก ได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสม และเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หาก สถาบัน ก ไม่ได้กระทำการใด ๆให้แก่ผู้ให้เงินอุดหนุนเป็นการตอบแทน กรณีดังกล่าวไม่เข้าลักษณะการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1(8) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

          2.กรณีตาม 3.2 และ 3.3 สถาบัน ก มีรายรับค่าสินไหมทดแทนที่จ่ายจาก บริษัท A คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เนื่องจากการดำเนินกิจการของ สถาบัน ก รายรับค่าลงทะเบียน และค่าเช่าพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการในการจัดประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ซึ่งรายรับดังกล่าว สถาบัน ก จะนำไปใช้ในการดำเนินงานของ สถาบัน ก โดยไม่นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ตามมาตรา 16 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ดังนั้น เงินที่ สถาบัน ก ได้รับจึงเข้าลักษณะเป็นประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากการให้บริการ ตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งส่งรายรับทั้งสิ้นให้แก่รัฐโดยไม่หักรายจ่ายอันจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ท) แห่งประมวลรัษฎากร แต่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร