views

ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินปันผลเกินจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

วันที่: 30 ธันวาคม 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/9813

วันที่

30 ธันวาคม 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 50 (2) (จ) มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

77/39437

ข้อหารือ

          1.บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตถุงมือยางและส่งออกถุงมือยาง โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้

               1.1 บัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 12 ธันวาคม 2550 ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการประกอบกิจการส่งเสริมการลงทุนรวมกันไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน มีกำหนดเวลา 8 ปีตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2559 และได้รับสิทธิให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่พ้นกำหนดเวลาได้รับการยกเว้นภาษี โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ และได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

               1.2 บัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542 ส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้ (ข้อ 6) ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีกำหนดเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2552 และในกรณีที่ประกอบกิจการขาดทุนในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลผู้ได้รับการส่งเสริมจะได้รับอนุญาตให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่พ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้ (ข้อ 7) ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตลอดระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้นประกอบกิจการนั้น (ข้อ 8) ให้ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้รับจากการลงทุนในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราปกติ มีกำหนดเวลา 5 ปี นับจากวันที่พ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 31 วรรคหนึ่งและ (ข้อ 9) ให้ได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา สองเท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่เริ่มมีรายได้จากการประกอบกิจการนั้น ตามมาตรา 31 มาตรา 34และมาตรา 35 (2) (3) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544

          2.ในปี 2552 บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผล จำนวน 200,160,800 บาท ซึ่งจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ถึงปี 2552ซึ่งกิจการมีกำไรสุทธิทางภาษีสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว จำนวน 151,073,226.73 บาทและบริษัทฯ ใช้สิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่า ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542

          3.ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึงปี 2552 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา ที่ได้หักค่าใช้จ่ายสองเท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าว ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542 โดยขอไม่ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายดังกล่าว จำนวน 119,377,657.67 บาท เป็นผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทางภาษีสะสมของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้น จำนวน 319,691,645.56 บาท และทำให้การจ่ายเงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่เกินกำไรสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

          4.เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2556 และวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 บริษัทฯ ได้หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินปันผลเกินจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในประเด็นเดียวกัน

แนววินิจฉัย

          1.กรณีเงินปันผลที่ผู้รับเงินปันผลได้รับจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ต่อเมื่อเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 หมายถึง ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คำนวณมาจากกำไรสุทธิจากรายได้ของกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี หักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินปันผลดังกล่าวจึงต้องจ่ายจากกำไรสุทธิทางภาษี และต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจ่ายและผู้ได้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ประกอบกับข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งกรมสรรพากรได้วางแนวทางปฏิบัติเรื่องดังกล่าวไว้ ดังนี้

               (1)ต้องเป็นเงินปันผลที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้จ่าย และผู้รับเงินปันผลได้รับในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

               (2)ต้องเป็นเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเท่านั้น

               (3)กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมประกอบกิจการทั้งที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ได้รับการส่งเสริมจะจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่เกิดจากกิจการใดเป็นจำนวนเท่าใดก็ได้ แต่ผู้รับเงินปันผลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เท่านั้น กรณีที่ผู้ได้รับการส่งเสริมจ่ายเงินปันผลโดยมิได้ระบุว่าเงินปันผลดังกล่าวจ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการใด ให้เฉลี่ยเงินปันผลดังกล่าวตามส่วนของกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกับกำไรสุทธิของกิจการที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีตามข้อเท็จจริง ในปี 2552 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีสุดท้ายที่บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542 บริษัทฯ ได้ประกาศจ่ายเงินปันผล จำนวน 200,160,800 บาท ซึ่งจ่ายจากกำไรสุทธิสะสมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ถึงปี 2552ซึ่งในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทางภาษีสะสม จำนวน 151,073,226.73 บาทดังนั้น การจ่ายเงินปันผลในปี 2552 ของบริษัทฯ จึงจ่ายเกินจากกำไรสุทธิทางภาษีสะสมของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 49,087,573.27 บาท (200,160,800 - 151,073,226.73)เงินปันผล จำนวน 49,087,573.27 บาท จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ประกอบกับข้อ 5 ข้อ 6 และข้อ 7 ของประกาศกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ ตามมาตรา 50 (2) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามแบบที่อธิบดีกำหนด ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539

          2. กรณีตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542 ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมีกำหนดเวลา 8 ปี ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2552 ให้ได้รับอนุญาตให้หักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา สองเท่าของค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี และบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึงปี 2552 ใช้สิทธิหักค่าขนส่งค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของค่าใช้จ่าย ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึงปี 2552 เพิ่มเติม โดยไม่ขอใช้สิทธิหักค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปาสองเท่าของค่าใช้จ่าย ทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทางภาษีสะสมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ถึงปี 2552 เพิ่มขึ้น กรณีดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ ตามมาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรโดยรายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใดต้องลงเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น บริษัทฯ จึงต้องนำรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า และค่าประปา จำนวนสองเท่าของรายจ่ายดังกล่าวของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนบัตรใด มาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่รายจ่ายในกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนนั้นเกิดขึ้น โดยบริษัทฯ จะเลือกใช้สิทธิทุกปีหรือไม่ใช้สิทธิทุกปีในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2544 ถึงปี 2552 เพิ่มเติม เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2556 ภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาที่บริษัทฯ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 และได้รับสิทธิประโยชน์ ตามมาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 ตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 29 กันยายน 2542 เพื่อปรับปรุงโดยไม่ใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายสองเท่า เป็นเหตุให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทางภาษีสะสม สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ถึงปี 2552 เพิ่มขึ้น ก็ไม่มีผลให้การจ่ายเงินปันผลในปี 2552 ที่จ่ายไว้แล้วเกินกว่ากำไรสุทธิทางภาษีสะสม ตามข้อ 1. เป็นการจ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล จึงไม่อาจถือได้ว่า ผู้รับเงินปันผลได้รับเงินปันผลที่จ่ายจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ในระหว่างระยะเวลาที่ผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 แต่อย่างใด การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้