กค 0702/2508
19 กุมภาพันธ์ 2558
มาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร
78/39520
1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตหลอดยาสีฟัน ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้รับสิทธิยกเว้นอากรขาเข้า ตามมาตรา 36 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 สำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก โดยบริษัทฯ ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทเม็ดพลาสติกจาก D ประเทศญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ เป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและผ่านพิธีการศุลกากรในนามของบริษัทฯ ซึ่งได้รับยกเว้นอากรขาเข้า บริษัทฯ ได้ชำระเงินค่าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นดังกล่าวผ่านบริษัท ค. (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนของบริษัทผู้ขายต่างประเทศ โดยบริษัทตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษีพร้อมเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 มายังบริษัทฯ แล้ว
2. ต่อมาบริษัทฯ ได้ตรวจพบว่ามีวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกดังกล่าว ไม่ได้นำไปใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกครบถ้วนตามจำนวนที่มีการนำเข้า บริษัทฯ จึงขอชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาและไม่ได้ส่งออกข้างต้นต่อกรมศุลกากรบริษัทฯ จึงขอทราบว่า กรณีบริษัทฯ ได้นำเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นตามมาตรา 36 (1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แต่ไม่ได้นำไปใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก และบริษัทฯ ได้ขอชำระอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่นำเข้ามาและไม่ได้ส่งออกดังกล่าวต่อกรมศุลกากรแล้ว บริษัทฯ จะยังต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ต่อกรมศุลกากร อีกหรือไม่ เนื่องจากบริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7.0 ตามที่บริษัทตัวแทนในประเทศไทยได้เรียกเก็บไว้แล้ว
กรณีที่บริษัทฯ ไม่ได้นำวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นดังกล่าวไปใช้ในการผลิตเพื่อส่งออกภายในกำหนดเวลา ถือเป็นการปฏิบัติที่ผิดเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน อันเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่มีสิทธิในการวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันเพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีได้ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้บริษัทฯ มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยมีภาระภาษีอากรตามสภาพ ณ วันนำเข้า ซึ่งบริษัทฯ ต้องยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีนี้ถือได้ว่าบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ภายในกำหนดเวลา จึงต้องเสียเบี้ยปรับหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียและเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 89 (3) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร