views

ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ

วันที่: 6 พฤศจิกายน 2556
เลขที่หนังสือ

0702/พ./9520

วันที่

6 พฤศจิกายน 2556

ข้อกฎหมาย

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ

เลขตู้

-

ข้อหารือ

          รัฐวิสาหกิจประกอบกิจการเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการที่มีสัญญาทางการค้า เมื่อมีการส่งมอบสินค้าจะออกเอกสารใบกำกับสินค้า/ใบแจ้งหนี้/ใบกำกับภาษี และยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในกำหนดเวลาทุกเดือน ต่อมาลูกหนี้การค้ารวมสองรายมีหนี้ค้างชำระกับรัฐวิสาหกิจ รัฐวิสาหกิจ จึงได้ดำเนินคดีแพ่งและคดีล้มละลาย
               ทั้งสองคดี ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ให้จำเลยชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ย และโจทก์มีคำบังคับถึงจำเลยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่จำเลยทั้งสองมิได้นำเงินมาชำระหนี้แก่รัฐวิสาหกิจ แต่อย่างใด รัฐวิสาหกิจจึงดำเนินการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสอง แต่ไม่พบว่าจำเลยทั้งสองมีทรัพย์สินใด ๆ รัฐวิสาหกิจ มิได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงไม่มีการแถลงต่อศาลว่า ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใดที่จะชำระหนี้ได้ 2. ต่อมารัฐวิสาหกิจ ได้ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลล้มละลายกลางได้พิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2543 รัฐวิสาหกิจ ขอทราบว่า ในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจำหน่ายหนี้สูญ รัฐวิสาหกิจ จะต้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว ภายใน 3 ปี นับแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่ง ตามข้อ 3(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจำหน่ายหนี้สูญ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคำนวณส่วนของหนี้สูญ เพื่อนำมาหักออกจากภาษีขายตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 หรือต้องคืนภายใน 3 ปี นับแต่ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ตามข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว

แนววินิจฉัย

          1. จากข้อเท็จจริงรัฐวิสาหกิจ มีลูกหนี้การค้าสองราย ซึ่งได้ติดตามทวงถามแล้ว ลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 รัฐวิสาหกิจได้ฟ้องคดีแพ่งกับลูกหนี้การค้าทั้งสองราย และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระหนี้ แต่รัฐวิสาหกิจ มิได้ขอออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงยังมิได้ดำเนินการบังคับคดี แต่ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินใด ๆ จะชำระหนี้ได้ ต่อมารัฐวิสาหกิจ ได้ยื่นฟ้องลูกหนี้ทั้งสองรายต่อศาลล้มละลายกลาง โดยศาลล้มละลายกลางได้พิพากษาให้ลูกหนี้ทั้งสองเป็นบุคคลล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินได้ และไม่มีกิจการใดต้องปฏิบัติต่อไป จึงขอให้ศาลมีคำสั่งปิดคดี และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดคดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 วันที่ 26 มกราคม 2554 กรณีดังกล่าว รัฐวิสาหกิจ จึงมีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญออกจากบัญชีลูกหนี้ในเดือนกันยายน 2554 และในเดือนมกราคม 2554 ซึ่งเป็นเดือนที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปิดคดีไม่มีแบ่ง ตามข้อ 3(3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 85)ฯ ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ .ศ. 2542
          2. กรณีรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ขายสินค้า และได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร รัฐวิสาหกิจมีสิทธินำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญมาหักออกจากภาษีขายในเดือนภาษีที่มีการจำหน่ายหนี้สูญได้ตามมาตรา 82/11 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น รัฐวิสาหกิจจึงต้องนำภาษีขายที่คำนวณจากส่วนของหนี้สูญไปหักจากภาษีขายในเดือนภาษีที่มีการจำหน่ายหนี้สูญตาม 1.