0702/1838
2 มีนาคม 2561
มาตรา 39มาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
81/40590
1.บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตท่อหรือหลอดที่ทำด้วยโลหะเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีนายโท เป็นประธานกรรมการบริหารตั้งแต่เริ่มกิจการ
2.เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นายโท ได้ถึงแก่กรรม (รวมระยะเวลาทำงาน 28 ปี) และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2560 อนุมัติให้จ่ายค่าตอบแทนจำนวน 33,600,000 บาท ให้แก่ครอบครัวและทายาทของนายโท (ได้แก่ ภริยา 1 คน และบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะ 1 คน) เพื่อขอบคุณการทำงานของนายโท โดยคำนวณค่าตอบแทนจากเงินเดือนๆ สุดท้าย x อายุงาน x จำนวนเท่าของตำแหน่งสุดท้าย (400,000 x 28 ปี x 3 = 33,600,000)
3.บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ จะนำค่าตอบแทนที่จ่ายให้แก่ครอบครัวและทายาทของนายโท ไปถือเป็นรายจ่ายทางภาษีได้หรือไม่ และต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายหรือไม่ อย่างไร
1.กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ครอบครัวและทายาทของนายโท ผู้ถึงแก่กรรมเพื่อขอบคุณสำหรับการทำงานที่ผ่านมาของนายโท ตามข้อเท็จจริงนั้น เนื่องจากไม่ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้มีข้อบังคับหรือระเบียบใดๆ ของบริษัทฯ กำหนดเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนกรณีดังกล่าวไว้ และการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวไม่ได้เป็นการจ่ายตามกฎหมายหรือระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น ดังนั้น เงินค่าตอบแทนที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่ครอบครัวและทายาทของนายโท จึงเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทฯ จะนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร
2.กรณีครอบครัวและทายาทของนายโท ได้รับเงินค่าตอบแทนจากบริษัทฯ ตามข้อเท็จจริงนั้น เงินค่าตอบแทนดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้ที่ได้รับตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48 แห่งประมวลรัษฎากร