views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบวิชาชีพอิสระ

วันที่: 7 กันยายน 2561
เลขที่หนังสือ

กค 0702/6973

วันที่

7 กันยายน 2561

ข้อกฎหมาย

มาตรา 40 (6) มาตรา 81 (1) (ญ) มาตรา 81/3, มาตรา85/10 มาตรา 89/1, มาตรา 89(6) และมาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

81/40793

ข้อหารือ

          นาย ก.หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการประกอบวิชาชีพอิสระ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
          1. นาย ก.ประกอบวิชาชีพอิสระ (ประกอบโรคศิลปะ) รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศีรษะ (ผมบาง) ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามหนังสือแพทยสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 การคิดค่ารักษาพยาบาล นาย ก.จะคิดตามความยากง่ายประกอบกับระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาของผู้ป่วยแต่ละราย
          2. นาย ก.ได้เปิดคลินิกเวชกรรมเฉพาะทาง สาขาศัลยกรรมทั่วไป ประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ตามใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำแนะนำของสำนักงานสรรพากรพื้นที่เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 นาย ก.ได้ย้ายสถานประกอบการ
          3. ตั้งแต่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน นาย ก. มีรายได้จากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศีรษะ (ผมบาง) เท่านั้น โดยไม่มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ เช่น สบู่ แชมพู ยา อื่น ๆ เป็นต้น ให้แก่บุคคลทั่วไปที่ไม่ต้องผ่านการตรวจรักษาจากท่าน ซึ่งในการตรวจรักษาทุกครั้ง นาย ก. ได้ออกใบกำกับภาษีและนำรายได้ที่ได้รับไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป นอกจากนี้ยังได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.94) แสดงค่าตอบแทนที่ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ในแต่ละปีภาษีอีกด้วย
          นาย ก. จึงหารือว่า การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวถูกต้อง ตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณี นาย ก. รักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศีรษะ (ผมบาง) ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามหนังสือแพทยสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 เมื่อนาย ก.ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนแผนปัจจุบัน สาขาศัลยกรรมทั่วไป โดยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ตามใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลเลขที่ ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ใช้ชื่อสถานพยาบาล ก.คลินิกเวชกรรมเฉพาะทางศัลยกรรมทั่วไป และใบอนุญาตเลขที่ดังกล่าวได้ระบุให้ใช้ได้เฉพาะสถานที่ประกอบกิจการสถานพยาบาลที่ระบุไว้ในใบอนุญาตเท่านั้น ดังนั้น การเสียภาษีตามประมวลรัษฎากร อาจพิจารณาได้ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีนาย ก ได้รับค่าตอบแทนจากค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศีรษะ (ผมบาง) ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร นายก.จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยให้ยื่นแบบแสดงรายการและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีละ 2 ครั้ง คือ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ภายในเดือนกันยายนของปีภาษีและยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป ตามมาตรา 56 ทวิ และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ได้ให้บริการแก่ผู้ป่วย ณ สถานประกอบการตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีตามข้อเท็จจริง นาย ก.ประกอบกิจการรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องเส้นผมและหนังศีรษะ (ผมบาง) โดยไม่ได้ประกอบกิจการอย่างอื่นที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 และได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ญ) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ก.ไม่มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อท่านได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้โดยสำคัญผิดในข้อกฎหมาย จึงไม่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายตั้งแต่เริ่มประกอบการ นาย ก.ต้องไปดำเนินการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขอถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไม่เข้าลักษณะตามมาตรา 85/10 แห่งประมวลรัษฎากร
          นาย ก.กรณียื่นแบบ (ภ.พ.30) ตามจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีที่ออกโดย ไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย โดยนำภาษีซื้อมาขอเครดิตออกจากภาษีขายและได้นำส่งส่วนต่างให้กรมสรรพากรไว้แล้ว จึงมีผลเป็นการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องรับผิดตามใบกำกับภาษีดังกล่าวบางส่วนเท่านั้น ท่านจึงต้องรับผิดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษีในส่วนที่เสียภาษีขาดพร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากรของภาษีที่เสียไว้ขาด นอกจากนี้ นาย ก.ยังต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและค่าปรับทางอาญากรณีออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 89 (6) และ มาตรา 90/4 (3) แห่งประมวลรัษฎากรอีกด้วย