0702/1423
26 กุมภาพันธ์ 2562
มาตรา 40 (6) มาตรา 65 มาตรา 66 มาตรา 69 ทวิ และ มาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร
82/40840
กรณีการจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาและให้คำแนะนำในต่างประเทศ มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า หน่วยงานราชการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมไทย ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการออกแบบ ตกแต่ง ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือก่อสร้างอาคารสำนักงานของรัฐบาลไทยที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ โดยการให้คำปรึกษาแนะนำตามที่ว่าจ้าง กระทำในต่างประเทศ กล่าวคือ ณ ประเทศที่อาคารสำนักงานตั้งอยู่ แต่หน่วยงานราชกรจะชำระค่าบริการในประเทศไทย หน่วยงานราชการขอหารือว่า การว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คำปรึกษาแนะนำดังกล่าว มีภาระภาษีอากร หรือไม่ อย่างไร
1. ภาษีเงินได้
1.1 กรณีที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นบุคคลธรรมดา เนื่องจากค่าบริการการให้คำปรึกษาแนะนำด้านสถาปัตยกรรมตามข้อเท็จจริงข้างต้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้รับเนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ และโดยที่หน่วยงานราชการได้จ่ายค่าบริการในประเทศไทย ดังนั้น หากผู้เชี่ยวชาญอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึง 180 วัน ในปีที่มีเงินได้ ผู้เชี่ยวชาญมีหน้าที่ต้องนำค่าบริการที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 41 วรรคสองและวรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร โดยหน่วยงานราชการผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 1 ของค่าบริการตามมาตรา 50 (4) แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 กรณีที่ผู้เชี่ยวชาญเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องนำค่าตอบแทนมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยตามมาตรา 65 และมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร และหน่วยงานราชการผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ของค่าบริการที่ได้จ่ายตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากการให้คำปรึกษาแนะนำของผู้เชี่ยวชาญตาม 1. ได้กระทำในต่างประเทศทั้งหมด การให้คำปรึกษาแนะนำดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่ได้กระทำและใช้บริการในต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร