views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ

วันที่: 3 เมษายน 2562
เลขที่หนังสือ

0702/2424

วันที่

3 เมษายน 2562

ข้อกฎหมาย

กฎกระทรวง 126 ข้อ 2 (65)

เลขตู้

82/40853

ข้อหารือ

          ปัจจุบันนาย ช.อายุ 64 ปี ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ตั้งแต่ปี 2555 ดังนี้
               วัน / เดือน / ปี ที่ซื้อ          กองทุนที่ซื้อหน่วยลงทุน
               24 ธันวาคม 2555          กองทุน A
               23 ธันวาคม 2556          กองทุน A
               19 ธันวาคม 2557          กองทุน B
               22 ธันวาคม 2558          กองทุน A
               28 ธันวาคม 2559          กองทุน A
               19 ธันวาคม 2560          กองทุน A
               นาย ช.จึงขอทราบว่า จะสามารถขายหน่วยลงทุน RMF ที่ซื้อในแต่ละปีตาม โดยขายทั้งหมดในปี 2561 ได้หรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย

          กรณีที่นาย ช.ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกในปี 2555 โดยได้ซื้อติดต่อกันทุกปีจนถึงปี 2560 และต่อมา นาย ช.ขายหน่วยลงทุนดังกล่าวทั้งหมดในปี 2561 นั้น การขายหน่วยลงทุนดังกล่าวเป็นการขายหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ถือมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ดังนั้น เมื่อนายช.มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ในขณะที่ขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุน RMF หากท่านได้ซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้ที่ได้รับในแต่ละปีหรือมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี และนาย ช.ไม่ได้รับเงินปันผลหรือเงินอื่นใดจากกองทุน RMF หรือไม่ได้กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุน RMF ที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้ เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่นาย ช.ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุน RMF ย่อมจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551