views

ขอหารือเกี่ยวกับประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบให้กับรัฐ

วันที่: 1 เมษายน 2563
เลขที่หนังสือ

กค 0702/2224

วันที่

1 เมษายน 2563

ข้อกฎหมาย

มาตรา 57(4) , มาตรา 24 พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

83/40899

ข้อหารือ

          กรม A ขอหารือเกี่ยวกับประเด็นภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินและค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบให้กับรัฐ โดยกรม A เป็นหน่วยงานกํากับดูแลด้านการสํารวจและผลิตปิโตรเลียมภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป ผู้รับสัมปทานจะมีสัมปทานที่จะสิ้นอายุสัมปทาน เนื่องจากภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถต่อระยะเวลาผลิตออกไปได้อีก โดยที่มีสัมปทานที่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศไทย ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติกลุ่มบงกชและกลุ่มเอราวัณ มีอัตราการผลิตรวมประมาณร้อยละ 75 ของกําลังการผลิตก๊าซในอ่าวไทย ซึ่งกําลังจะสิ้นอายุสัมปทานลงในเดือนเมษายน 2565 รวมถึงกลุ่มแหล่งบงกชใต้ ซึ่งจะสิ้นอายุสัมปทานในเดือนมีนาคม 2566 แต่ยังคงเหลือปริมาณทรัพยากรปิโตรเลียมที่คาดว่าจะผลิตได้หลังวันสิ้นอายุสัมปทาน ดังนั้น กรม A จึงมีความจําเป็นที่จะต้องพิจารณารับมอบสิ่งติดตั้งที่จะเป็นประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียมพร้อมค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนเพื่อนํามาพัฒนาทรัพยากรที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศต่อไป ทั้งนี้รวมถึงอาจเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันกับผู้รับสัมปทานรายอื่นในอนาคตที่อายุสัมปทานสิ้นสุดลงแต่ยังคงมีปริมาณทรัพยากรหลงเหลืออยู่ และกรม A เห็นว่า การส่งมอบสิ่งติดตั้งที่จะเป็นประโยชน์ ในกิจการปิโตรเลียมพร้อมค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน มีประเด็นที่กรม A สมควรนําหารือกับกรมสรรพากร เพื่อขอรับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อกรม A จะได้นําหลักการดังกล่าว ชี้แจงต่อผู้รับสัมปทานต่อไปเพื่อให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมีข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้
          1. สัมปทานปิโตรเลียมที่กระทรวงพลังงานได้ให้แก่ผู้รับสัมปทาน ข้อ 15 (4) กําหนดให้เมื่อสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม หรือสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อในพื้นที่ผลิตแปลงใด หรือเมื่อผู้รับสัมปทานคืนพื้นที่ผลิตแปลงใดทั้งแปลง หรือผู้รับสัมปทานถูกเพิกถอนสัมปทานก่อนสิ้นระยะเวลา ดังกล่าว ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบที่ดิน อาคาร ถนน รถไฟ ท่อส่งปิโตรเลียม เครื่องสูบ เครื่องจักร ชานเจาะ ถังเก็บน้ำมัน สถานี สถานีย่อย สถานีปลายทาง โรงงาน ท่าเรือ สิ่งติดตั้ง และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ อันจําเป็นต่อการสํารวจ ผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม หรืออันมีลักษณะที่ใช้เป็นสาธารณูปโภคได้ เช่น ระบบไฟฟ้า ก๊าซ น้ำ สื่อสารหรือโทรคมนาคม ที่เกี่ยวกับพื้นที่ผลิตแปลงนั้น ให้แก่รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ส่วนทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์มิได้ ผู้รับสัมปทานต้องรื้อถอนตามที่รัฐมนตรีสั่งให้เสร็จสิ้นภายในสามเดือนนับแต่วันที่สั่ง
          2. ข้อกําหนดในกฎกระทรวงกําหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่าย และหลักประกัน ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม พ.ศ. 2559 ข้อ 22 กําหนดให้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามข้อกําหนดในสัมปทานปิโตรเลียม ในกรณีที่รัฐเห็นสมควรนําสิ่งติดตั้งทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปใช้ประโยชน์ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งผู้รับสัมปทานทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสองปีก่อนเริ่มกิจกรรมการรื้อถอน หรือก่อนสิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมหรือระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการต่อแล้วแต่กรณีใดเกิดขึ้นก่อนว่ามีสิ่งติดตั้งใดที่รัฐจะรับมอบ และให้ผู้รับสัมปทานส่งมอบสิ่งติดตั้งดังกล่าวให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่าภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ทําข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทาน ทั้งนี้ผู้รับสัมปทานยังคงมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ได้ส่งมอบแล้วเว้นแต่จะได้กําหนดไว้เป็นอย่างอื่นในข้อตกลงระหว่าง หน่วยงานของรัฐผู้รับมอบกับผู้รับสัมปทาน โดยข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศ กําหนดในราชกิจจานุเบกษา
          3. ประกาศกรม A เรื่อง ข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง กําหนดว่า ผู้รับสัมปทานจะปลอดภาระหน้าที่การรับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบให้แก่รัฐ ก็ต่อเมื่อผู้รับสัมปทานส่งมอบทรัพย์สินพร้อมเงินค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบ โดยค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบนั้น จะกําหนดตามสัดส่วนของทรัพยากรปิโตรเลียมที่ได้ผลิตไปแล้วและที่คงเหลือหลังวันสิ้นอายุสัมปทานดังที่ระบุในประกาศกรม A และจะต้องชําระเป็นเงินสดเพื่อเก็บรักษาโดยรัฐสําหรับใช้ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งดังกล่าวต่อไปในอนาคตทั้งนี้ กรม A ขอหารือ ในส่วนของภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และภาษีที่เกี่ยวข้อง

แนววินิจฉัย

          กรณีผู้รับสัมปทานส่งมอบที่ดิน อาคาร ถนน รถไฟ ท่อส่งปิโตรเลียม เครื่องสูบ เครื่องจักร ชานเจาะ ถังเก็บน้ำมัน สถานี สถานีย่อย สถานีปลายทาง โรงงาน ท่าเรือ สิ่งติดตั้ง และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ อันจําเป็นต่อการสํารวจ ผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม ให้แก่รัฐบาลไทยโดยไม่คิดมูลค่า ตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง ผู้รับสัมปทานมีภาระภาษี ดังนี้
          1. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม
               1.1 การที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่รัฐบาลไทยตามข้อเท็จจริงข้างต้น หากเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานโอนทรัพย์สินให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่าเมื่อสัมปทานสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อกำหนดของสัมปทานปิโตรเลียมตามแบบสัมปทานปิโตรเลียมท้ายกฎกระทรวงออกตามความในมาตรา 14 (5) และมาตรา 23 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และกรณีที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบสิ่งติดตั้งไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งเป็นไปตามข้อ 22 แห่งกฎกระทรวง กําหนดแผนงานฯ พ.ศ. 2559 ทั้ง 2 กรณีดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ถือเป็นเหตุอันสมควรตามมาตรา 57 (4) แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
               1.2 กรณีกฎกระทรวง กําหนดแผนงานฯ พ.ศ. 2559 ข้อ 22 ประกอบกับประกาศกรม A เรื่อง ข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้ง ลงวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2561 กำหนดว่า ผู้รับสัมปทานจะปลอดภาระหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนภายใต้เงื่อนไขเมื่อผู้รับสัมปทานส่งมอบสิ่งติดตั้งพร้อมค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ส่งมอบในวันสิ้นอายุสัมปทาน ตามจำนวนที่กำหนดในประกาศกรม A ซึ่งตามพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กรณีเงินที่ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมายหรือข้อตกลงที่ได้จัดทำไว้นั้น ถือเป็นรายจ่ายตามกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม หากผู้รับสัมปทานสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นรายจ่ายตามปกติและจำเป็นในจำนวนไม่เกินสมควร และได้จ่ายไปทั้งหมดเฉพาะในกิจการปิโตรเลียม ไม่ว่าจะจ่ายในหรือนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514
          2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
               การที่ผู้รับสัมปทานต้องส่งมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่รัฐบาลไทย หากเป็นกรณีที่ผู้รับสัมปทานโอนทรัพย์สินให้แก่รัฐโดยไม่คิดมูลค่าเมื่อสัมปทานสิ้นสุดลงตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งเป็นการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม ถือได้ว่าเป็นกรณีการโอนทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร