กค 0702/พ./1383
9 มีนาคม 2565
มาตรา 84 , มาตรา 84/1
85/51338
บริษัท A (บริษัทฯ) ได้ว่าจ้างบริษัท ก. ซึ่งเป็นสำนักงานบัญชีทำหน้าที่ยื่นแบบ ภ.พ.30 ให้แก่ บริษัทฯ โดยสำนักงานบัญชีต้องส่งข้อมูลการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มของแต่ละเดือนภาษีมาให้ ผู้บริหาร ของบริษัทฯ ตรวจทานก่อนยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกครั้ง และเมื่อบริษัทฯ แจ้งให้ สำนักงานบัญชีทราบว่า ข้อมูลดังกล่าวถูกต้องครบถ้วนแล้ว สำนักงานบัญชีจึงจะยื่นแบบ ภ.พ.30 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในนามของบริษัทฯ โดยใช้หมายเลขผู้ใช้และรหัสผ่าน ของบริษัทฯ ได้
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 พนักงานของสำนักงานบัญชีได้ทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ผ่าน ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผิดพลาด กล่าวคือ พนักงานของสำนักงานบัญชีมีเจตนาที่จะ ยื่นแบบ ภ.พ.30 ของบริษัท B. แต่เกิดความผิดหลงไปกรอกหมายเลขผู้ใช้งานและรหัสผ่าน ของบริษัทฯ เป็นเหตุให้ระบบได้บันทึกข้อมูลว่าบริษัทฯ ทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติ สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 แล้ว เมื่อบริษัทฯ จะทำการยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติ สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จึงไม่สามารถกระทำได้ ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 บริษัทฯ จึงได้ไปยื่นแบบ ภ.พ.30 ฉบับปกติในรูปของ กระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา (สส.)
บริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 มกราคม 2560 เพื่อขออนุมัติยกเลิกแบบ ภ.พ.30 สำหรับ เดือนภาษีธันวาคม 2559 ฉบับที่มีการยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 และขอให้มีคำสั่งอนุมัติให้ถือว่าแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ที่ยื่น ณ สส. เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2560 เป็นแบบฉบับปกติ เพื่อให้ บริษัทฯ มีสิทธิใช้เครดิตภาษีที่ชำระเกินยกมา (พันยอด) อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนภาษี ธันวาคม 2559 ไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนถัดไป โดยไม่ต้องขอคืนเป็นเงินสด
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า ไม่สามารถยกเลิก แบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษี ธันวาคม 2559 ฉบับที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ จึงขอให้บริษัทฯ ชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ซึ่งบริษัทฯ ได้ชำระไว้แล้ว เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563
บริษัทฯ ขอขยายระยะเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีดังกล่าว ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
รัฐมนตรีฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฯ ไม่ได้มีเจตนาทุจริตในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ เมื่อบริษัทฯ ได้ทราบถึงความผิดพลาดในการยื่นแบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษี ธันวาคม 2559 ฉบับที่ได้มีการยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 แล้ว บริษัทฯ ได้ไปยื่นแบบในรูปของกระดาษ ณ สส. ในวันที่ 13 มกราคม 2560 ทันที โดยเป็นการยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และบริษัทฯ ก็แสดง เจตนาที่จะนำเครดิตภาษีเหลืออยู่จากการคำนวณภาษีในเดือนภาษีธันวาคม 2559 ไปชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไป อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ยื่นคำร้องเพื่อขออนุมัติยกเลิก แบบ ภ.พ.30 สำหรับเดือนภาษีธันวาคม 2559 ฉบับที่มีการยื่นผ่านระบบเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ซึ่งหากว่า อธิบดีกรมสรรพากรมีคำสั่งอนุมัติให้ยกเลิกแบบ ภ.พ.30 ตามคำร้อง ของบริษัทฯ จะทำให้บริษัทฯ มีสิทธินำเครดิตภาษีของเดือนภาษีธันวาคม 2559 ไปชำระ ภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีถัดไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 84 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการนำเครดิตภาษี ที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษีไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534 โดยไม่ต้องยื่น คำร้องเพื่อขอคืนเป็นเงินสด แต่ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ทราบในภายหลังว่า ไม่สามารถยกเลิก แบบ ภ.พ.30 ตามที่บริษัทฯ ร้องขอในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ซึ่งล่วงพ้นกำหนดเวลา การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 84/1 แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการ ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของบริษัทฯ สร้างความเป็นธรรมและสร้างความสมัครใจ ในการเสียภาษี จึงให้ขยายกำหนดเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษี ธันวาคม 2559 ให้แก่บริษัทฯ ตามที่ร้องขอ