กค 0702/5985
20 ตุลาคม 2566
มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
-
1. บริษัท ก. ได้ทำสัญญาจ้างบริการรถตู้ปรับอากาศรับ - ส่งพนักงาน และใช้ในกิจการบริษัท ก. (สัญญาฯ) กับบริษัท ข. (ผู้รับจ้าง) เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องจัดหารถตู้ปรับอากาศ จำนวน 3 คัน พร้อมพนักงานขับรถและน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้บริการรับ - ส่งพนักงานและใช้ในกิจการของบริษัท ก. โดยประจำที่ศูนย์ ค. ตามเวลาการให้บริการและระยะทางที่บริษัท ก. กำหนด และบริษัท ก. สามารถเรียกใช้บริการรถตู้ปรับอากาศนอกเหนือเวลาให้บริการข้างต้นได้
2. ผู้รับจ้างจะต้องให้บริการตามภารกิจที่ศูนย์ ค. กำหนด คือ ภารกิจประจำวัน ซึ่งเป็นการวิ่งรถตู้ปรับอากาศภายในตัวเมืองและจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบ ในรัศมีไม่เกิน 80 กิโลเมตร และภารกิจ การปฏิบัติงานนอกศูนย์ ค. ซึ่งเป็นการเดินทางไป - กลับจากศูนย์ ค. ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร โดยบริษัท ก. จะเป็นผู้กำหนดเส้นทางและเวลาการให้บริการ
3. บริษัท ก. ตกลงจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างต่อวันสำหรับการใช้บริการรถตู้คันที่ 1 และคันที่ 2 ทุกวัน ยกเว้นวันหยุดราชการ วันหยุดนักขัตฤกษ์ และการใช้บริการรถตู้คันที่ 3 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุด โดยบริษัท ก. จะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างเดือนละครั้งตามจำนวนวันที่ผู้รับจ้างได้ปฏิบัติงานจริง ซึ่งค่าจ้างดังกล่าวคำนวณมาจากค่าเช่าซื้อรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างพนักงานขับรถ ค่าซ่อมบำรุง ค่าภาษี ตลอดจน ค่าดำเนินการอื่น ๆ และในกรณีที่บริษัท ก. เรียกใช้บริการรถตู้ปรับอากาศนอกเหนือไปจากเวลาตามที่กำหนดในสัญญา บริษัท ก. จะชำระเงินค่าล่วงเวลาให้ผู้รับจ้างในอัตราชั่วโมงละ 100 บาท โดยบริษัท ก. จะนำจำนวนการทำงานที่เกินเวลาทำงานของแต่ละวันต่อคันมาคำนวณค่าล่วงเวลาตามจำนวนนาทีที่เกิดขึ้นจริง
4. กรณีที่ผู้รับจ้างไม่สามารถนำรถตู้ปรับอากาศคันที่ผ่านการตรวจสภาพจากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุของบริษัท ก. (คณะกรรมการฯ) มาให้บริการได้ หรือผู้รับจ้างไม่สามารถนำรถป้ายแดง มาให้บริการตามใบจองรถที่ได้ยื่นไว้กับคณะกรรมการฯ ได้ทันวันเริ่มให้บริการตามสัญญา ให้ผู้รับจ้างแจ้งบริษัท ก. เป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้าอย่างน้อย 2 วัน เพื่อให้บริษัท ก. ตรวจสภาพรถที่จะนำมาให้บริการแทนก่อนนำมาให้บริการ ซึ่งรถดังกล่าวต้องมีสภาพเทียบเท่าหรือดีกว่าเดิม
5. ผู้รับจ้างต้องจัดหาพนักงานขับรถที่สามารถใช้อุปกรณ์สื่อสารกับหน่วยงานต่าง ๆ ของบริษัท ก. รวมทั้งต้องมีโทรศัพท์มือถือประจำตัวทุกคน โดยผู้รับจ้างต้องให้คนขับรถลงชื่อเวลาไป - กลับ ในแบบฟอร์มของบริษัท ก. ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัท ก. ลงชื่อกำกับทุกวัน และถือว่าแบบฟอร์มดังกล่าวเป็นหลักฐานในการคำนวณค่าจ้างรายเดือน ผู้รับจ้างต้องอบรมชี้แจงพนักงานขับรถของผู้รับจ้างทราบคำสั่ง ระเบียบ และข้อบังคับของบริษัท ก. ตลอดจนวิธีปฏิบัติต่าง ๆ และกรณีที่พนักงานขับรถของผู้รับจ้างไม่ตั้งใจปฏิบัติงานขัดคำสั่ง หรือฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของบริษัท ก. แสดงกิริยาไม่สุภาพ กระด้างกระเดื่องต่อบริษัท ก. หรือมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตรวมทั้งประพฤติตนอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัท ก. เมื่อบริษัท ก. ได้แจ้งให้ผู้รับจ้างทราบเป็นหนังสือแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องเรียกพนักงานขับรถผู้นั้นกลับ และจะไม่ส่งมาปฏิบัติงานให้ผู้ว่าจ้างอีก
6. ค่าจ้างพนักงานและน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง ทั้งนี้ ผู้รับจ้าง ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานขับรถของบริษัท ก. ตรงตามเวลา และจำนวนที่ได้กำหนดไว้ หากผู้รับจ้าง ไม่ปฏิบัติตาม บริษัท ก. มีสิทธินำเงินที่บริษัท ก. จ่ายให้ผู้รับจ้างไปจ่ายแก่พนักงานขับรถของบริษัท ก. แทน และถือว่าผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญา
7. กรณีที่ผู้รับจ้างไม่สามารถจัดหารถตู้ปรับอากาศมารับหรือส่งพนักงานของบริษัท ก. ได้ ผู้รับจ้างยินยอมให้บริษัท ก. ปรับเป็นเงินเท่ากับจำนวนที่พนักงานต้องจ่ายเป็นค่าเช่าเหมาแท็กซี่หรือรถรับจ้างอื่นใดเพื่อส่งให้ถึงจุดหมายปลายทาง และต้องชำระค่าปรับในอัตรา 2 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวัน และในกรณีที่นำรถมาให้บริการล่าช้ากว่ากำหนดในแต่ละวันเกินกว่า 15 นาที ต้องชำระค่าปรับเป็นชั่วโมงในอัตราชั่วโมงละ 2 เท่าของอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงต่อคัน
8. กรณีราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลงหรือสูงขึ้นจากวันที่เสนอราคาในอัตราร้อยละ 20 หรือมากกว่าเป็นระยะเวลา 1 เดือนติดต่อกัน บริษัท ก. จะปรับลดหรือเพิ่มอัตราค่าจ้างให้ผู้รับจ้างตาม สูตรการคำนวณราคาตามสัญญาได้ 1 ครั้งตลอดอายุสัญญา
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัท ก. จึงขอหารือว่า การให้บริการตามสัญญาฯ ข้างต้น บริษัท ก. จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราเท่าใด
กรณีบริษัท ก. ทำสัญญาฯ กับผู้รับจ้าง โดยมีข้อตกลงว่าผู้รับจ้างจะต้องจัดหารถตู้ปรับอากาศ จำนวน 3 คัน พร้อมพนักงานขับรถและน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้บริการรับ - ส่งพนักงานและใช้ในกิจการอื่น ของบริษัท ก. ประจำที่ศูนย์ ค. ทั้งนี้ ตามระยะเวลาและระยะทางที่กำหนดในสัญญาฯ ซึ่งบริษัท ก. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัท ก. จะเป็นผู้กำหนดเส้นทางและมีอำนาจสั่งการได้ และมีอำนาจเปลี่ยนพนักงานขับรถได้หากว่าพนักงานขับรถนั้นไม่ตั้งใจปฏิบัติงานขัดคำสั่งของบริษัท ก. ซึ่งบริษัท ก. ตกลงชำระเงินให้แก่ผู้รับจ้าง โดยจำนวนเงินดังกล่าวคำนวณมาจากค่าเช่าซื้อรถ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าจ้างพนักงานขับรถ ค่าซ่อมบำรุง ค่าภาษี และค่าดำเนินการอื่น ๆ ไม่ได้คำนวณมาจากระยะทาง ความยากง่ายและระยะเวลาขนส่ง อันจะถือเป็นค่าระวางพาหนะตามมาตรา 610 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น สัญญาฯ ที่บริษัท ก. ทำกับผู้รับจ้าง จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาให้เช่าทรัพย์สิน มาตรา 537 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัท ก. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5.0 ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528