กค 0702/5655
3 ตุลาคม 2566
มาตรา 12 และมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
-
นาย ก. ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับนาง ข. มีบุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว 3 คน ได้แก่ นายหนึ่ง นายสอง และน.ส.สาม โดย นาย ก. และ นาง ข. มีทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสเป็นที่ดินมีโฉนดและเงินฝากธนาคารในประเทศรวมกันเป็นจำนวนเงิน 250 ล้านบาท นาย ก. เสียชีวิตโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งนาง ข. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลตามกฎหมาย โดยทรัพย์สินดังกล่าวเมื่อเป็นสินสมรสจึงต้องถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จำนวน 125 ล้านบาทเป็นของนาง ข. คู่สมรส ส่วนที่สอง จำนวน 125 ล้านบาท เป็นกองมรดกของนาย ก. โดยทายาททุกคนได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่า นาง ข. นายหนึ่ง และ น.ส.สาม จะไม่ขอรับทรัพย์มรดก จำนวน 125 ล้านบาท ของนาย ก. และตกลงให้ทรัพย์มรดกดังกล่าวตกเป็นของ นายสอง ดังนั้น จึงขอหารือว่า ทายาทแต่ละคนของนาย ก. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกหรือไม่ อย่างไร และกรณีการโอนสิทธิการรับมรดกให้แก่ นายสอง แต่เพียงผู้เดียวนั้น นายสอง มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการรับให้ทรัพย์สินหรือไม่ อย่างไร
1. กรณีทายาทโดยธรรมของ นาย ก. ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันให้ นายสอง ได้รับทรัพย์มรดกของนาย ก. ทั้งหมด หากได้กระทำขึ้นโดยทำสัญญาโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทายาทฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของทายาททั้งสามคนดังกล่าวเป็นสำคัญ อันมีลักษณะเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยมีการทำสัญญาตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว นาง ข. นายหนึ่ง และน.ส.สาม ไม่ได้รับมรดกตามสัญญาดังกล่าว จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
2. ในกรณีที่ นายสอง ได้รับทรัพย์มรดกจากนาย ก. ผู้เป็นเจ้ามรดกรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาท จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการรับมรดกเฉพาะส่วนที่เกินหนึ่งร้อยล้านบาท ซึ่งคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดก ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 นายสอง มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับมรดกที่เป็นเหตุให้มีหน้าที่เสียภาษี กล่าวคือ เมื่อได้รับทรัพย์มรดกรวมกันมีมูลค่าเกินหนึ่งร้อยล้านบาท ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558
3. กรณีนาง ข. นายหนึ่ง และนางสาวสาม ตกลงให้ทรัพย์มรดกทั้งหมดตกเป็นของนายสอง แต่เพียงผู้เดียว เป็นการตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ทรัพย์สินที่ นายสอง ได้รับมาจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการรับมรดก ซึ่งไม่ใช่การได้รับทรัพย์สินจากการให้ ดังนั้น นายสอง จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด