กค 0702/5439
23 กันยายน 2567
มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
-
1. บริษัทประกอบกิจการการซื้อหรือการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของตนเองที่ไม่ใช่เพื่อการอยู่อาศัย บริษัทเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินในที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นฯ พ.ศ. 2561 (พระราชกฤษฎีกาฯ) เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 บริษัทได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน (สัญญาซื้อขายฯ) ตามพระราชกฤษฎีกาฯ กับสำนักงาน ก. หน่วยงาน ข. เป็นเงินค่าที่ดินรวมกับเงินค่าทดแทน ซึ่งหน่วยงาน ข. ได้จ่ายเงินค่าทดแทนตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.เวนคืนฯ) โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ดังนี้
1.1 งวดที่ 1 จ่ายเงินให้ร้อยละ 75 เมื่อบริษัทได้มาเจรจาทำความตกลงกับหน่วยงาน ข. และได้ยื่นคำขอรังวัดต่อสำนักงาน ค. หน่วยงาน ข.
1.2 งวดที่ 2 จ่ายเงินให้ร้อยละ 25 เมื่อบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งเวนคืนที่ดินเป็นทางหลวงท้องถิ่นฯ
2. บริษัทได้รับเงินค่าทดแทนการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯ งวดที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2563 บริษัทยื่นคำอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกรณีค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 จึงได้มีการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งเวนคืนที่ดิน ปรากฏว่าจำนวนเนื้อที่ดินลดลงทำให้จำนวนเงินค่าทดแทนลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ในสัญญาซื้อขายฯ
3. บริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิ์ในที่ดินประเภทแบ่งขายให้แก่ทางหลวงท้องถิ่นฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และได้รับเงินค่าทดแทนงวดที่ 2 เมื่อวันที่ วันที่ 17 ธันวาคม 2564
4. บริษัทบันทึกบัญชีที่ดินดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ไม่ใช่ที่ดินเพื่อการพัฒนาหรือสินค้ารอการจำหน่าย (ปรากฏตามงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต) และบันทึกบัญชีตามมาตรฐานการายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ (NPAEs)
5. บริษัทจึงขอหารือ ดังนี้
5.1 กรณีการรับเงินค่าทดแทนงวดที่ 1 ในปี 2562 เนื่องจากยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม บริษัทจึงยังไม่มีการรับรู้รายได้เงินค่าทดแทนดังกล่าว บริษัทได้บันทึกเงินค่าทดแทนการเวนคืนงวดที่ 1 เป็นเงินมัดจำ ซึ่งไม่ถือเป็นรายได้และไม่นำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทดำเนินการถูกต้อง หรือไม่
5.2 เมื่อบริษัทจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิ์ในที่ดินประเภทแบ่งขายให้แก่ทางหลวงท้องถิ่นฯ และได้รับชำระเงินค่าทดแทนงวดที่ 2 ภายในปี 2564 บริษัทต้องรับรู้รายได้ ค่าทดแทนทั้ง 2 งวด และนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 ถูกต้องหรือไม่
กรณีบริษัททำสัญญาซื้อขายฯ กับสำนักงาน ก. ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.เวนคืนฯ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 กำหนดแบ่งจ่ายเงินค่าทดแทนการเวนคืนตามสัญญาซื้อขายฯ เป็น 2 งวด (ร้อยละ 75 และร้อยละ 25 ตามลำดับ) บริษัทได้รับเงินงวดที่ 1 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 และได้อุทธรณ์ค่าทดแทนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้มีคำวินิจฉัยเมื่อปี 2563 ต่อมาได้มีการรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินที่จะต้องถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาฯปรากฏว่าเนื้อที่ที่ดินที่ถูกเวนคืนมีจำนวนลดลงจากที่ได้ประมาณการไว้ในสัญญาซื้อขายฯ เป็นเหตุให้เงินค่าทดแทนมีจำนวนลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ในสัญญาซื้อขายฯ ซึ่งบริษัทได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและการสอบสวนสิทธิ์ในที่ดินประเภทแบ่งขายให้แก่ทางหลวงท้องถิ่นฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 และหน่วยงาน ข. ได้จ่ายเงินค่าทดแทนงวดที่ 2 ให้แก่บริษัทเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 ดังนั้น รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตาม พ.ร.บ.เวนคืนฯ จึงเกิดความแน่นอนที่มีสิทธิจะได้รับเงินค่าทดแทนจากรัฐเมื่อบริษัทได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืนตามประมวลกฎหมายที่ดินให้แก่ทางหลวงท้องถิ่นฯ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการรับเงินค่าทดแทนตามสัญญาฯ ทั้งหมดตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.เวนคืนฯ ดังนั้น บริษัทจึงต้องนำเงินค่าทดแทนที่ได้รับจากการเวนคืนทั้งจำนวนมารับรู้เป็นรายได้และนำไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2564 ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร