views

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ของสามีภริยา

วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2558
เลขที่หนังสือ

กค0702/2723

วันที่

26 กุมภาพันธ์ 2558

ข้อกฎหมาย

มาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

78/39537

ข้อหารือ

          1.เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 นาย ส. สามี และนาง จ. ได้จดทะเบียนสมรสกัน และเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 นาย ส.และนาง จ. ได้ร่วมกันซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยโฉนดที่ดินได้ระบุชื่อนาย ส.เป็นผู้ซื้อแต่เพียงผู้เดียว เพื่อความสะดวกในการทำธุรกรรม

          2.ต่อมาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 นาย ส.และนาง จ. ได้ทำการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแปลงดังกล่าวไปตามราคาประเมิน จำนวน 546,000 บาท โดยในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2556 นาย ส.ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยนำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมกับเงินเดือน รับรู้รายได้เป็นจำนวน 414,960 บาท และนาง จ. ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นำรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมกับเงินเดือนเช่นเดียวกัน รับรู้รายได้จำนวน 131,040 บาท ซึ่งนาย ส.เข้าใจว่า อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างนาย ส.และนาง จ. เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรสดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร นาย ส.และนาง จ. สามารถที่จะตกลงแบ่งเงินได้พึงประเมินระหว่างสามีภริยาได้ ตามความในมาตรา 57 ฉ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร

          3.เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 นาย ส.ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา ดังนี้

               3.1 การซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของนาย ส.และนาง จ. นั้น เป็นการตกลงใจโดยความยินยอมร่วมกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัว

               3.2 เงินที่ใช้ในการซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นเงินที่บุคคลทั้งสองเหลือจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วนำไปจ่ายค่าซื้อบ้าน นาย ส.และนาง จ. ได้นำเงินค่าซื้อบ้านมาจากสินสมรสทั้งสิ้น และสินสมรสดังกล่าวไม่มีการแบ่งแยกทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันว่าเป็นส่วนของใคร แค่ไหน เพียงใด

               3.3 นาง จ. ตกลงให้ใส่ชื่อนาย ส.ลงในโฉนดแต่บุคคลเดียว เพราะทั้งคู่ตระหนักดีว่าแม้จะใส่ชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งในโฉนดที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวก็ยังเป็นสินสมรส เพราะเป็นทรัพย์สินที่ร่วมกันซื้อมาระหว่างสามีภริยา

               3.4 ก่อนการสมรสนาย ส.และนาง จ. ไม่ได้มีการทำสัญญาใดๆ เพื่อตกลงให้การจัดการทรัพย์สินเป็นอื่นนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สิ่งใดที่ได้มาภายหลังการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายครอบครัว

               3.5 กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เป็นการขายโดยได้รับความยินยอมจากนาง จ. ภริยา โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ตามหนังสือของนาง จ. ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2556

แนววินิจฉัย

          1.กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 นาย ส.และนาง จ. ได้จดทะเบียนสมรสเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2548 นาย ส.และนาง จ. นำเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันโดยไม่อาจแยกได้ว่าส่วนไหนเป็นเงินส่วนตัวของนาย ส. หรือนาง จ. ที่แต่ละคนทำมาหาได้ ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยใช้ชื่อนาย ส.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน ดังนั้น เมื่อเงินที่นำมาซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรส ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวย่อมเป็นสินสมรสที่นาย ส.และนาง จ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันและมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1474 (1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แม้ว่าในโฉนดที่ดินระบุชื่อนาย ส.แต่เพียงผู้เดียวก็ไม่ทำให้สิทธิในความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมของนาง จ. ต่ออสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรสดังกล่าวสูญสิ้นไป เนื่องจากนาง จ. มีสิทธิร้องขอให้ระบุชื่อของตนเพิ่มเติมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินได้ ตามมาตรา 1475 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับการขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้น หากมิได้รับความยินยอมจากนาง จ. โดยชัดแจ้ง นาง จ. อาจร้องขอต่อศาลให้พิจารณาเพิกถอนนิติกรรมอันมิชอบนั้นได้ ตามมาตรา 1480 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          2.ตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร "ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว ตามมาตรา 56" กรณีตามข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2556 นาย ส.และนาง จ. ได้ร่วมกันขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่บุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของร่วมกันและมีส่วนเท่ากันตามหลักฐานโฉนดที่ดินเลขที่ 14075 และหนังสือแสดงความยินยอมให้ขายบ้านและที่ดินของนาง จ. ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2556 จึงถือได้ว่า นาย ส.และนาง จ. แต่ละคนได้รับเงินได้พึงประเมินคนละส่วนเท่ากันจากการร่วมกันขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยมิใช่เป็นกรณีที่มีเงินได้พึงประเมิน ที่มิอาจแยกได้อย่างชัดแจ้ง ดังนั้น นาย ส.และนาง จ. จึงต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินจากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำนวนคนละกึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 57 ฉ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร