views

ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการขออนุมัติหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ออกหนังสือรับรองการหักภาษี และนำส่งเงิน ภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน

วันที่: 12 กุมภาพันธ์ 2557
เลขที่หนังสือ

กค 0702/552

วันที่

12 กุมภาพันธ์ 2557

ข้อกฎหมาย

มาตรา 3 เตรส มาตรา 50 มาตรา 52 มาตรา 59 และมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร

เลขตู้

77/38867

ข้อหารือ

          บริษัท ซ. (บริษัทฯ) เป็นผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ ในการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีการซื้อสินค้าจาก Suppliers หลายพันราย และมีการตกลงกับ Suppliers เพื่อขอส่วนลดเนื่องจากส่งเสริมการขายจากยอดขายในแต่ละเดือน ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน นอกจากนั้น ยังมีการเรียกเก็บค่าบริการต่างๆ เช่น ค่าสนับสนุนส่งเสริมการขาย ค่าโฆษณา ค่าบริการใช้สถานที่ เป็นต้น รวมทั้งมีการเรียกเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าด้วย โดยในทางปฏิบัติ บริษัทฯ จะเรียกเก็บเงินโดยการหักกับค่าสินค้าที่จะจ่ายให้ Suppliers หรือนำใบแจ้งหนี้ค่าเช่าหักกับค่าขายสินค้าที่บริษัทฯ รับเงินแทนและจะจ่ายคืนให้แก่ผู้เช่าเมื่อ Suppliers หรือผู้เช่าได้รับเงินแล้ว บริษัทฯ จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย มาให้บริษัทฯ แต่เนื่องจาก Suppliers มีจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่ครบถ้วน และต้องใช้เวลาในการติดตามรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นระยะเวลานาน ดังนั้น เพื่อให้บริษัทฯ ได้รับหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายครบถ้วนตามกำหนดเวลา บริษัทฯ จึงขออนุมัติเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีแทนผู้จ่ายเงินได้ สำหรับค่าเช่า ค่าบริการ ค่าโฆษณา ค่าส่วนลดค่าส่งเสริมการขาย หรือค่าขนส่ง

แนววินิจฉัย

          1. กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ หรือเงินค่าส่วนลด หรือค่าส่งเสริมการขายจากการซื้อสินค้า ที่ผู้จ่ายเงินที่จ่ายเงินได้ดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 6 ข้อ 10 ข้อ 12/1 และข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ผู้จ่ายเงินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้กับบริษัทฯ ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง มาตรา 59 และมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร

          2. เนื่องจากผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายผู้เช่า และผู้รับบริการจากบริษัทฯ ซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตาม 1. มีเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทฯ ต้องใช้เวลาในการติดตามและรวบรวมหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในแต่ละเดือนค่อนข้างมาก ดังนั้น กรณีบริษัทฯ มีความประสงค์เป็นตัวแทนของผู้จ่ายเงินได้ เพื่อออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงิน เข้าลักษณะเป็นการกระทำการแทนตัวการ ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเห็นควรให้ผู้จ่ายเงินแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนดำเนินการดังกล่าวได้ ตามมาตรา 797 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมอบอำนาจให้กระทำการแทนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้บริษัทฯ ดำเนินการดังนี้

               (1) กรณีบริษัทฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้จ่ายเงิน ซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตาม 1. ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินรายเดิม โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ หรือเงินค่าส่วนลดสินค้าหรือค่าส่งเสริมการขายแทน ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทน และยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่ายแทน โดยกำหนดระยะเวลาให้ผู้จ่ายเงินนั้นตอบรับ เมื่อผู้จ่ายเงินตอบรับแล้ว ให้ถือว่าหนังสือแจ้งเป็นข้อตกลงแต่งตั้งให้บริษัทฯ เป็นตัวแทนได้ แต่หากเป็นผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายรายใหม่ จะต้องมีการแต่งตั้งตัวแทนอย่างชัดเจน

               (2) กรณีบริษัทฯ หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ หรือเงินค่าส่วนลดหรือค่าส่งเสริมการขายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ผ่อนผันให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการ หรือเงินค่าส่วนลดหรือค่าส่งเสริมการขายให้กับบริษัทฯ ในทันทีทุกครั้งที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นรายฉบับทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน แต่บริษัทฯ ต้องจัดทำรายละเอียดรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อเป็นหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วย และบริษัทฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าว

                    รายละเอียดของรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ต้องมีรายการอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

                    (ก) คำว่า "รายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ประจำเดือน .. พ.ศ. ." ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

                    (ข) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของบริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยมีข้อความว่า "ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินได้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในเอกสารนี้"

                    (ค) ประเภทเงินได้

                    (ง) ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนเงินภาษีที่หักไว้

                    (จ) ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย

               (3) เพื่อเป็นการรับรองว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการหักภาษี ณ ที่จ่ายแทนผู้จ่ายเงินแล้ว ให้บริษัทฯ ระบุข้อความเพิ่มเติมในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีของเงินค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าบริการหรือเงินค่าส่วนลดหรือค่าส่งเสริมการขาย โดยมีข้อความว่า "บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 5 ร้อยละ 3 ร้อยละ 2 หรือร้อยละ 1 เป็นจำนวน ..... บาท แทนผู้จ่ายเงินแล้ว และจะดำเนินการนำส่งภาษีดังกล่าวต่อกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป" ซึ่งบริษัทฯ จะต้องจัดให้มีการ Scan หรือพิมพ์ลายมือชื่อผู้รับมอบอำนาจในใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย

               (4) ให้บริษัทฯ ยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามแบบ ภ.ง.ด.53 โดยระบุในช่องผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ว่าบริษัทฯ ในฐานะผู้กระทำการแทนผู้จ่ายเงินในใบแนบ ภ.ง.ด.53 พร้อมทั้งแนบรายละเอียดรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งระบุชื่อผู้จ่ายเงิน เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้จ่ายเงิน จำนวนเงินที่จ่าย และจำนวนภาษีที่หัก และให้ถือว่าเอกสารรายละเอียดดังกล่าวเป็นใบต่อแบบ ภ.ง.ด.53 ด้วย ซึ่งจะจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ และให้ถือว่าเป็นบัญชีพิเศษแสดงการหักภาษี ณ ที่จ่าย และการนำส่งภาษีตามมาตรา 17 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้และภาษีการค้า (ฉบับที่ 4) เรื่อง กำหนดให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้หรือภาษีการค้า ณ ที่จ่าย มีบัญชีพิเศษ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2531

               (5) ให้บริษัทฯ ใช้สำเนาแบบ ภ.ง.ด. 53 และหลักฐานใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่รับชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีตามมาตรา 60 แห่งประมวลรัษฎากร