กค 0702/1509
18 กุมภาพันธ์ 2559
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2548 (ข้อ 12)
79/40013
บริษัท ส. (บริษัทฯ) ซึ่งแสดงยอดภาษีซื้อ และภาษีขาย ในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน ปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
1.บริษัทฯ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสำนักงานตั้งอยู่ แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร มีกรรมการ 1 คนลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท คือ นาย ภ. ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีผู้ถือหุ้นจำนวน 3 คน คือ นาย ภ. นาย พ. และนาย ป. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 แจ้งประเภทของการประกอบกิจการ คือ ขายส่งวัสดุก่อสร้าง เหล็กรูปพรรณ เหล็กแผ่น ขายส่งอุปกรณ์ไฟฟ้า ประปา ขายส่งทองเหลือง ทองแดง เศษเหล็ก ขายส่งพลาสติก ขายส่งกระจกอลูมิเนียม สแตนเลส ขายส่งอุปกรณ์รถยนต์ อะไหล่แอร์
2.สท.กทม. ได้วิเคราะห์ข้อมูลการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ของบริษัทฯ พบว่า บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.พ.30 โดยแสดงยอดซื้อ ยอดขาย ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มใกล้เคียงกัน และมียอดชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนเล็กน้อยเป็นประจำทุกเดือน แต่ไม่พบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) จึงได้เข้าตรวจสภาพกิจการเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สถานประกอบการของบริษัทฯ มีลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 1 คูหา 3 ชั้น ประตูปิด ไม่มีผู้ใดพักอาศัย เจ้าพนักงานประเมิน สท.กทม. จึงได้ออกหนังสือเชิญกรรมการผู้จัดการบริษัทฯ (นาย ภ. ) มาพบ รวม 3 ครั้ง แต่นาย ภ. ก็ไม่ได้มาพบหรือแจ้งเหตุขัดข้องให้ทราบแต่อย่างใด
3.สท.กทม. ได้ดำเนินการเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2556 พร้อมทั้งได้ตรวจสอบข้อมูลบริษัทฯ กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทฯ ซึ่งนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2556 จึงได้มีหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีไว้ก่อน กรณีดังกล่าวเจ้าพนักงานประเมินจะทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร
1.กรณีบริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีในระหว่างที่บริษัทฯ ยังไม่ได้ถูกเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุหรือมีหลักฐานใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ได้มีการประกอบกิจการจริง การที่บริษัทฯ ออกใบกำกับภาษีดังกล่าว ย่อมเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตามมาตรา 88(4) มาตรา 88/1 มาตรา 88/2 มาตรา 88/5 และมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มบริษัทฯ ตามมาตรา 89(3) (4) (6) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) (4) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจะต้องถือปฏิบัติตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542 เรื่อง การคำนวณเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2542
2.กรณีบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีภายหลังที่ถูกเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น เข้าลักษณะเป็นการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตามมาตรา 88/1 มาตรา 88/5 และมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มบริษัทฯ ตามมาตรา 89(1) (6) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(1) และ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจะต้องถือปฏิบัติตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542ฯ ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2542
3.กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ย่อมมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อที่จ่ายไปในแต่ละเดือนภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนภาษีตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดขาย ภาษีขาย ยอดซื้อ และภาษีซื้อในระหว่างที่บริษัทฯ ยังไม่ถูกเพิกถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น จึงเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ได้มีการสอบยันใบกำกับภาษีของบริษัทฯ จากผู้ประกอบการอื่น และพบว่า บริษัทฯ ไม่ได้นำยอดขาย ภาษีขายไปแสดงรายการในแบบ ภ.พ. 30 นั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตามมาตรา 88(2) มาตรา 88/2 มาตรา 88/5 และมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มบริษัทฯ ตามมาตรา 89(3) (4) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3) และ (4) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจะต้องถือปฏิบัติตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542ฯ ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2542
4.กรณีบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 แสดงยอดซื้อ และภาษีซื้อ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือเชิญพบ และขอเอกสารหลักฐานใบกำกับภาษีซื้อ รายงานภาษีซื้อแล้ว แต่บริษัทฯ และกรรมการไม่มาพบ ทั้งยังไม่ส่งมอบเอกสารให้ทำการตรวจสอบ หากเจ้าพนักงานประเมินมีเหตุหรือหลักฐานใดที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า บริษัทฯ แสดงยอดซื้อและภาษีซื้อ โดยไม่มีใบกำกับภาษี หรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีว่าได้มีการชำระภาษีซื้อ หรือนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยผู้ที่ไม่มีสิทธิออกมาใช้ ภาษีซื้อดังกล่าว ย่อมเป็นภาษีซื้อต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตามมาตรา 88(2) (4) มาตรา 88/2 มาตรา 88/5 และมาตรา 88/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มบริษัทฯ ตามมาตรา 89 (3) (4) (7) (10) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรณีที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (3) (4) (7) และ (10) แห่งประมวลรัษฎากร เจ้าพนักงานจะต้องถือปฏิบัติตามข้อ 12 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542ฯ ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยเรียกเก็บเบี้ยปรับได้เพียงกรณีเดียว ซึ่งเป็นกรณีที่จะทำให้เรียกเก็บได้เงินเป็นจำนวนมาก สำหรับวิธีการคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.81/2542ฯ ลงวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2542